คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9408/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตอนแรกผู้เสียหายที่ 1 จะออกจากบ้านเองเพราะโกรธที่ถูกโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาด่าก็ตาม แต่การที่ผู้เสียหายที่ 1 บอกจำเลยว่าจะไปหาพี่สาวซึ่งจำเลยรับอาสาจะไปส่งแต่กลับพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่กระท่อมนาซึ่งไม่ใช่สถานที่ที่ผู้เสียหายที่ 1 ต้องการจะไป และจำเลยได้อยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ที่กระท่อมนาเป็นเวลา 3 คืน 2 วัน รวมทั้งได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 1 ด้วย ดังนี้ ต้องถือว่าจำเลยได้พรากผู้เสียหายที่ 1 ไปจากโจทก์ร่วมโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กหญิง ส. อายุ ๑๔ ปีเศษ ผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเสียจากนางน้อย คิดรักเมือง ผู้เสียหายที่ ๒ ซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร และได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ ๑ จนสำเร็จความใคร่รวม ๒ ครั้ง โดยผู้เสียหายที่ ๑ ยินยอม เหตุเกิดที่ตำบลอูบมุง และตำบลโนนหวาย อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม , ๒๗๗ วรรคหนึ่ง , ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน ๑๕ ปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม แต่ให้การปฏิเสธข้อหาพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร
ระหว่างพิจารณา นางน้อย คิดรักเมือง ผู้เสียหายที่ ๒ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคหนึ่ง , ๓๑๗ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร จำคุก ๕ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ เหลือจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน ๑๕ ปี จำคุก ๔ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี รวมสองกระทง จำคุก ๕ ปี ๔ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายที่ ๑ ถูกโจทก์ร่วมด่าอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ ๑ โกรธและหนีออกจากบ้านมาเอง เมื่อมาพบจำเลยพูดคุยกันแล้วผู้เสียหายที่ ๑ จึงไปร่วมเลี้ยงสังสรรค์กับจำเลยและพวก อันเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ ๑ พรากตัวเองหนีโจทก์ร่วมออกมาจากบ้าน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น ผู้เสียหายที่ ๑ เบิกความว่า เมื่อพบกับจำเลยได้พูดคุยกันแล้ว ผู้เสียหายที่ ๑ บอกจำเลยว่าจะไปหาพี่สาวที่หมู่บ้านนันทวรรณที่จังหวัดอุดรธานี จำเลยบอกว่าจะไปส่ง ผู้เสียหายที่ ๑ จึงได้ยอมไปกับจำเลย จากนั้นจำเลยได้พาผู้เสียหายที่ ๑ ไปที่กระท่อมนาเขตบ้านดงบัว และผู้เสียหายที่ ๑ ได้อยู่กับจำเลยที่กระท่อมนาดังกล่าว ๒ วัน ในระหว่างที่อยู่ด้วยกันได้ร่วมประเวณีกัน ๒ ครั้ง เห็นว่า แม้ตอนแรกผู้เสียหายที่ ๑ จะออกจากบ้านเพราะโกรธที่ถูกโจทก์ร่วมด่าก็ตาม แต่การที่ผู้เสียหายที่ ๑ บอกจำเลยว่าจะไปหาพี่สาวซึ่งจำเลยรับอาสาไปส่งแต่กลับพาผู้เสียหายที่ ๑ ไปที่กระท่อมนาซึ่งไม่ใช่สถานที่ที่ผู้เสียหายที่ ๑ ต้องการจะไป และจำเลยได้อยู่กับผู้เสียหายที่ ๑ ที่กระท่อมนาตั้งแต่คืนวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๙ จนถึงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ รวมทั้งได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ ๑ เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยได้พรากผู้เสียหายที่ ๑ ไปจากโจทก์ร่วมโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดีเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้น ที่ผู้เสียหายที่ ๑ ออกจากบ้านเพราะโกรธที่ถูกโจทก์ร่วมด่า เมื่อพบจำเลยและจำเลยพาไปที่กระท่อมนา ผู้เสียหายที่ ๑ ก็ยินยอมไปโดยดี ทั้งยังอยู่ที่นั้นเป็นเวลา ๓ คืน ๒ วัน และยอมร่วมประเวณีกับจำเลย แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายที่ ๑ ก็มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำผิดในคดีนี้ด้วย เกิดเหตุแล้วจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมเป็นเงินจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ร่วมก็เบิกความว่าไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย จำเลยเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ซึ่งตามฎีกาของจำเลยระบุว่าปัจจุบันจำเลยกับผู้เสียหายที่ ๑ ได้อยู่กินฉันสามีภรรยา แต่ยังจดทะเบียนสมรสไม่ได้ เพราะไม่สามารถติดตามโจทก์ร่วมและบิดาของผู้เสียหายที่ ๑ มาให้ความยินยอมได้ เนื่องจากไม่มีอาชีพที่แน่นอน ซึ่งโจทก์และโจทก์ร่วมได้รับสำเนาแล้วไม่ได้ยื่นคำแก้ฎีกา จึงฟังได้ว่าเป็นความจริง จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาแล้วเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเพื่อจะได้ประพฤติเป็นพลเมืองดีของสังคมสักครั้งหนึ่ง แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำจึงให้ลงโทษปรับจำเลยเพิ่มขึ้นอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุไม่เกิน ๒๐ ปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ กำหนดโทษตามมาตรา ๒๗๗ วรรคแรก จำคุก ๒ ปี ปรับ ๘,๐๐๐ บาท ตามมาตรา ๓๑๗ วรรคสาม จำคุก ๒ ปี ๖ เดือน ปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท ความผิดตามมาตรา ๒๗๗ วรรคแรก ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงกำหนดโทษจำคุก ๑ ปี ปรับ ๔,๐๐๐ บาท ความผิดตามมาตรา ๓๑๗ วรรคสาม ลดโทษให้หนึ่งในสามคงกำหนดโทษจำคุก ๑ ปี ๘ เดือน ปรับ ๘,๐๐๐ บาท รวมกำหนดโทษจำคุก ๒ ปี ๘ เดือน ปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้กระทงละ ๔ ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด ๓ ปี นับตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๔ เดือน ต่อหนึ่งครั้ง และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรกำหนดเป็นเวลา ๓๐ ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔.

Share