แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ประสงค์จะขอทุเลาภาษีซึ่งตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 (กรมสรรพากร) กำหนดให้นำหลักทรัพย์ไปประกันหนี้ภาษีอากรอย่างใดอย่างหนึ่งคือ โฉนดที่ดินซึ่งมีราคาเป็น 2 เท่าของเงินภาษีที่ค้างชำระ โดยจำนองแก่ทางราชการ หรือจัดให้มีธนาคารค้ำประกัน การที่จำเลยที่ 2 เข้ามาทำหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ทั้งสองจึงไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือสอบถามโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือตอบโจทก์ที่ 2 ว่าการค้ำประกันดังกล่าวไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ขอให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนจำนองให้ถูกต้อง ทั้งโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนจำนองเสียใหม่ให้ถูกต้อง หรือหากไม่จดทะเบียนจำนองก็ต้องจัดให้มีธนาคารค้ำประกัน แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ตกลงยอมรับการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด แม้โจทก์ที่ 1 จะเคยมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 แจ้งว่าได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรได้แต่ก็ได้ระบุต่อไปว่า จะต้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันให้ถูกต้อง การแจ้งอนุมัติดังกล่าวจึงหาใช่การยอมรับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 จัดทำส่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองมิได้มุ่งประสงค์จะผูกนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 โดยเข้าถือเอาสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินเพิ่มใหม่กับภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มเดิมเป็นเงินภาษีอากรรวมจำนวน 20,400,604.47 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 20,400,604.47 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ประสงค์จะขอทุเลาภาษีซึ่งตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 กำหนดให้นำหลักทรัพย์ไปประกันหนี้ภาษีอากรอย่างใดอย่างหนึ่งคือ 1.โฉนดที่ดินซึ่งมีราคาเป็น 2 เท่าของเงินภาษีที่ค้างชำระ โดยจำนองแก่ทางราชการ หรือ 2. จัดให้มีธนาคารค้ำประกันการที่จำเลยที่ 2 เข้ามาทำหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ทั้งสองจึงไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือสอบถามโจทก์ที่ 1 ถึงการที่จำเลยที่ 2 ขอเป็นผู้ค้ำประกันดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 มีนโยบายการทำสัญญาค้ำประกันรายนี้เป็นประการใด และโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือตอบโจทก์ที่ 2 ว่าการค้ำประกันดังกล่าวไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์ที่ 1 วางไว้ ขอให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนจำนองให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ทั้งโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่าการค้ำประกันโดยไม่นำหลักทรัพย์ไปจดทะเบียนจำนองไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง หรือหากไม่จดทะเบียนจำนองก็ต้องจัดให้มีธนาคารค้ำประกัน แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ตกลงยอมรับการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด แม้โจทก์ที่ 1 จะเคยมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 แจ้งว่าได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรได้แต่ตามหนังสือฉบับดังกล่าวก็ได้ระบุต่อไปว่าโดยจะต้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 การแจ้งอนุมัติดังกล่าวจึงหาใช่การยอมรับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 จัดทำส่งให้แก่โจทก์ทั้งสองไม่ พฤติการณ์ที่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมรับหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 และติดตามจำเลยทั้งสองให้มาทำสัญญาจำนองหรือหาหลักประกันอื่นมาวางให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์ที่ 1 กำหนด จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองมิได้มุ่งประสงค์จะผูกนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 โดยเข้าถือเอาสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีหาใช่โจทก์ที่ 1 ตกลงรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว แต่ให้จำเลยที่ 1 หาหลักประกันเพิ่มดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ไม่ เมื่อต่อมาหลังจากที่จำเลยที่ 2 เสนอหนังสือค้ำประกันแก่โจกท์ทั้งสองแล้วเป็นเวลา 6 ปี แต่โจทก์ทั้งสองไม่รับ จำเลยที่ 2 จึงได้ขอหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าวคืน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.