คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ในชื่อค่าครองชีพ แม้จะไม่เรียกว่าค่าจ้าง แต่ก็มิใช่สาระสำคัญที่จะถือว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ เมื่อเป็นเงินที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำจำนวนแน่นอนโดยไม่ต้องนำใบเสร็จค่าน้ำมันมาเบิก อันเป็นการจ่ายให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยจ่ายให้เพื่อเป็นการชดเชยค่าน้ำมันรถยนต์ให้แก่ผู้บริหารที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อการงานของจำเลยอันเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์ ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์จึงเป็นค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2
จำเลยออกประกาศจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้แก่ผู้บริหารอันเป็นประกาศที่จำเลยกำหนดขึ้นฝ่ายเดียว แต่ประกาศดังกล่าวเป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20การที่จำเลยออกประกาศลดค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหาร และออกประกาศเลิกจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารเพียงฝ่ายเดียวแม้โจทก์และลูกจ้างของจำเลยมิได้คัดค้าน แต่ก็มิได้ยินยอมให้จำเลยลดหรือเลิกการจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหาร ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวขัดแย้งกับประกาศเดิมและไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าย่อมไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารตามข้อตกลงเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2528 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งทนายความ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 52,632 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 5,000 บาท ระหว่างทำงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2540 ถึงเดือนธันวาคม 2540 จำเลยชำระค่าครองชีพให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนยังขาดอยู่เป็นเงิน 24,000 บาทและเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์และจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนยังขาดอยู่เป็นเงิน 24,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น48,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เข้าทำงานและมีตำแหน่งตามฟ้อง ได้รับเงินเดือนเดือนละ 52,632 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 1,000 บาทนอกจากนี้ยังไม่รับค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารอีกเดือนละ 4,000 บาทโดยจำเลยนำค่าน้ำมันรถยนต์ไปลงไว้ในค่าครองชีพด้วยและจะจ่ายพร้อมกับเงินเดือนของแต่ละเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 จำเลยได้ประกาศลดค่าน้ำมันรถยนต์ลงจากเดิมคงเหลือเดือนละ2,000 บาท ซึ่งโจทก์ไม่คัดค้าน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 จำเลยประกาศยกเลิกการจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ ซึ่งโจทก์ไม่คัดค้าน เงินค่าน้ำมันรถยนต์จึงไม่ใช่เงินค่าครองชีพ และไม่ใช่ค่าจ้าง ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม2540 กระทรวงการคลังมีคำสั่งปิดกิจการจำเลยเป็นการถาวร และแต่งตั้งคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)เข้าดำเนินกิจการแทน มีผลให้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกเงินตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจเงินทุนเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2528 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งทนายความประจำฝ่ายกฎหมาย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการระดับ 15 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 56,636 บาทค่าครองชีพเดือนละ 1,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2539 จำเลยได้ประกาศให้เงินช่วยเหลือค่าน้ำมันรถยนต์แก่ผู้บริหารที่นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้งานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับ 15 จะได้รับค่าน้ำมันรถยนต์เดือนละ 4,000 บาท โดยจ่ายรวมอยู่ในค่าครองชีพ ครั้นปี 2540 จำเลยประสบกับภาวะเศรษฐกิจ จึงประกาศลดค่าน้ำมันรถยนต์ลงจากเดือนละ 4,000 บาท เหลือเดือนละ 2,000 บาทตามประกาศฉบับลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 เอกสารหมาย ล.2 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไป ต่อมาจำเลยได้มีประกาศฉบับลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.3 ให้ยกเลิกการให้ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป โจทก์จึงคงได้รับเฉพาะค่าครองชีพเดือนละ 1,000 บาทเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2540 กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งปิดกิจการของจำเลยเป็นการถาวร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 โดยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ซึ่งคำนวณจากฐานเงินเดือนเดือนละ 52,632 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 1,000 บาทเป็นเงิน 321,792 บาท ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.6ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายให้โจทก์นั้นเป็นค่าจ้างต้องนำไปเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยจำเลยจึงจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ขาดไปจำนวน 24,000 บาท ส่วนการที่จำเลยประกาศลดและยกเลิกค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารนั้น โจทก์มิได้ตกลงด้วย การประกาศลดและยกเลิกค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารจึงไม่มีผลจำเลยต้องจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงเดิมซึ่งจ่ายขาดไปจำนวน 24,000บาท พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยที่จ่ายขาดจำนวน 24,000 บาท ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จ่ายขาดจำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,061.10 บาท รวม 58,061.10 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นค่าจ้างค้าง 24,000 บาทและอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชย 24,000 บาท นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 31 มีนาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์นั้นเป็นค่าจ้างหรือไม่ และต้องนำไปเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยหรือไม่ เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 2 บัญญัติว่า “ค่าจ้าง หมายความว่า เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” บทบัญญัติดังกล่าวมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อ คือ ข้อแรก ค่าจ้างนั้นมิได้คำนึงว่าจะมีชื่อเรียกว่าอย่างไร ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีวิธีการจ่ายโดยกำหนดหรือคำนวณอย่างไรข้อที่สองค่าจ้างนั้นต้องเป็นเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ลูกจ้าง มิใช่จ่ายผ่านมือลูกจ้างไปยังผู้อื่น และข้อที่สามค่าจ้างนั้นนายจ้างจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ในชื่อค่าครองชีพ แม้จะไม่เรียกว่าค่าจ้าง แต่ก็มิใช่สาระสำคัญที่จะวินิจฉัยว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ ตามหลักเกณฑ์ข้อแรก ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารนั้นเป็นเงินที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำจำนวนแน่นอน โดยไม่ต้องนำใบเสร็จค่าน้ำมันมาเบิกอันเป็นการจ่ายให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามหลักเกณฑ์ข้อที่สองและจำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารตามเอกสารหมาย ล.1 เพื่อเป็นการชดเชยค่าน้ำมันรถยนต์ให้แก่ผู้บริหารที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อการงานของจำเลยอันเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์ตามหลักเกณฑ์ข้อที่สาม ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์จึงเป็นค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและต้องนำมาเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าชดเชย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสองของจำเลยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่เห็นว่า จำเลยออกประกาศเอกสารหมาย ล.1 จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้แก่ผู้บริหาร อันเป็นประกาศที่จำเลยกำหนดขึ้นฝ่ายเดียว แต่ประกาศดังกล่าวนี้เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 20 การที่จำเลยออกประกาศลดค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารตามเอกสารหมาย ล.2 และออกประกาศเลิกจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารตามเอกสารหมาย ล.3 เพียงฝ่ายเดียว แม้โจทก์และลูกจ้างของจำเลยจะมิได้คัดค้าน แต่ก็มิได้ตกลงยินยอมให้จำเลยลดหรือเลิกการจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารดังกล่าว ประกาศของจำเลยทั้งสองฉบับดังกล่าวขัดแย้งกับประกาศเอกสารหมาย ล.1และไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารจำนวนตามข้อตกลงเดิมที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share