คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9383/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การส่งมอบและรับการส่งมอบสินค้าที่ผู้ขายและผู้ซื้ออยู่ห่างกันโดยระยะทางต้องมีการขนส่งจากต้นทางมายังปลายทางโดยใช้บริการของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งโดยลักษณะการขนส่งประเภทนี้จะต้องมีการใช้ท่าเรือหรือท่าเทียบเรือในการบรรทุกและขนถ่ายสินค้าขึ้นลงจากเรือเดินทะเลตามแต่ลักษณะทางกายภาพของสินค้า มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถดำเนินการส่งมอบและรับมอบสินค้ากันให้เสร็จสิ้นตามสัญญาซื้อขายได้ และในขณะเดียวกันการที่สินค้าได้รับการขนส่งจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร ยังเกี่ยวพันกับกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากผู้นำเข้าสินค้านั้นมาถึงปลายทาง การที่เรือเดินทางมาถึงท่าเทียบเรือที่โจทก์เป็นผู้บริหารและให้บริการ โดยมีการจัดเตรียมอาคารสถานที่ พื้นที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรไว้รองรับตั้งแต่การเข้าเทียบท่าของเรือ การบรรทุก การขนถ่าย การเคลื่อนย้ายสินค้ามายัง ไปจาก ขึ้น หรือลงจากเรือเดินทะเล จึงเป็นการจัดเตรียมไว้เพื่อให้การดำเนินการส่งมอบและรับการส่งมอบสินค้าที่ต่อเนื่องจากการบริการของเรือเดินทะเลตามสัญญารับขนของทางทะเล ที่เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศให้ดำเนินไปและเสร็จสิ้นลงได้ และขณะเดียวกันก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าที่เข้ามาอยู่ในอารักขาของตน โดยที่ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายเป็น CIF Bangkok ผู้ขายจึงมีหน้าที่จัดหาผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลและชำระค่าระวางล่วงหน้า ดังนั้นจากข้อตกลงและพฤติการณ์ในทางปฏิบัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า การที่เรือที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ขนส่งได้บรรทุกสินค้ามาส่งมอบขึ้นที่ท่าเรือที่โจทก์ให้บริการ เป็นการนำมาส่งมอบไว้แก่โจทก์เพื่อให้จำเลยในฐานะผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายหรือผู้นำเข้าตามความหมายของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มารับการส่งมอบไปจากโจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณา ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคหนึ่ง ประกอบกับ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 41 และมาตรา 10 ทวิ แล้วเห็นได้ว่า โจทก์ทราบล่วงหน้าว่าจำเลยจะเป็นผู้รับมอบสินค้า และเมื่อจำเลยหรือตัวแทนของจำเลยนำเอกสารเกี่ยวกับการรับสินค้ามาติดต่อขอรับสินค้าจากโจทก์พร้อมชำระค่าภาระต่าง ๆ แล้วเท่านั้น โจทก์จึงจะส่งมอบสินค้าทั้งหมดให้แก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยได้ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนสินค้าแก่ผู้ใดก็จะคืนให้แก่ผู้นั้น พร้อมกันนั้นผู้นั้นก็จะต้องชำระค่าภาระต่าง ๆ แก่โจทก์ด้วย มิฉะนั้นโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าเหล่านั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระภาระต่าง ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 670 อันสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 61 และ 63 ซึ่งหมายถึงเมื่อของที่นำเข้ามากลายเป็นของตกค้างเพราะเหตุที่ไม่มีผู้ติดต่อขอรับและเสียค่าภาษี อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจสั่งให้จัดการกับของนั้นได้ เมื่อคำนึงถึงสิทธิหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศที่ผู้ซื้ออาจมีเหตุที่จะปฏิเสธการรับมอบสินค้าได้แล้ว ที่จำเลยยังมิได้แสดงเจตนาต่อโจทก์เพื่อขอรับสินค้าที่โจทก์เก็บรักษาไว้ไปจากการดูแลจากอารักขาของศุลกากร จำเลยจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาระการให้บริการท่าเรือตามที่โจทก์เรียกร้อง

ย่อยาว

บรรดาคำฟ้อง คำให้การ รวมทั้งรายการต่าง ๆ ที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษานี้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการท่าเรือขนถ่ายสินค้า และได้ประกาศอัตราค่าบริการตามที่ได้รับอนุญาตไว้ตามใบอนุญาตเงื่อนไขการประกอบกิจการและอัตราค่าบริการ ใช้ชื่อ ท่าเรือบางกอกโมเดิร์นเทอร์มินอล ส่วนจำเลยเป็นผู้สั่งซื้อสินค้า Adipic Acid 4 ตู้สินค้า รวม 1,319 ห่อน้ำหนัก 71,230 กิโลกรัม จาก China Xintai Longjiang and Exp Co.Ltd ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยข้อตกลง CIF Bangkok การชำระเงินค่าสินค้าใช้วิธีเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สินค้าได้รับการขนส่งด้วยเรือเดินทะเลของสายการเดินเรือ Hafiz Darya Shipping Company ที่มีบริษัทขนส่งสากล จำกัด เป็นตัวแทนเรือ และมีการออกใบตราส่ง แต่เนื่องจากสินค้าที่จัดส่งมาตามสัญญาซื้อขายมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ตกลง จำเลยจึงแจ้งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระงับการจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต และแจ้งให้ผู้ขายทราบเพื่อนำสินค้ากลับไปยังต้นทางต่อมาธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้จัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายและการขนส่งกลับไปยังผู้ขาย ส่วนจำเลยมิได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อนำสินค้า ออกไปจากอารักขาของศุลกากร สินค้าทั้งหมดยังคงเก็บรักษาไว้ที่คลังสินค้าของโจทก์ตลอดมา และกลายเป็นของตกค้างรอการดำเนินการตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2464
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าภาระการให้บริการท่าเรือตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ จากข้อตกลงในการซื้อสินค้าตามฟ้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบ ผู้ซื้อมีหน้าที่ยอมรับการส่งมอบสินค้าจากผู้ขาย การส่งมอบและรับการส่งมอบสินค้าที่ผู้ขายและผู้ซื้ออยู่ห่างกันโดยระยะทางจึงต้องมีการขนส่งจากต้นทางมายังปลายทางโดยใช้บริการของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งโดยลักษณะการขนส่งประเภทนี้จะต้องมีการใช้ท่าเรือหรือท่าเทียบเรือในการบรรทุกและขนถ่ายสินค้าขึ้นลงจากเรือเดินทะเลตามแต่ลักษณะทางกายภาพของสินค้า มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถดำเนินการส่งมอบและรับมอบสินค้ากันให้เสร็จสิ้นตามสัญญาซื้อขายได้ และในขณะเดียวกันการที่สินค้าได้รับการขนส่งจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร ยังเกี่ยวพันกับกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากผู้นำเข้าสินค้านั้นมาถึงปลายทาง การที่เรือเดินทางมาถึงท่าเทียบเรือที่โจทก์เป็นผู้บริหารและให้บริการ โดยมีการจัดเตรียมอาคารสถานที่ พื้นที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรไว้รองรับตั้งแต่การเข้าเทียบท่าของเรือ การบรรทุกการขนถ่าย การเคลื่อนย้ายสินค้ามายัง ไปจาก ขึ้น หรือลงจากเรือเดินทะเล จึงเป็นการจัดเตรียมไว้เพื่อให้การดำเนินการส่งมอบและรับการส่งมอบสินค้าที่ต่อเนื่องจากการบริการของเรือเดินทะเลตามสัญญารับขนของทางทะเลที่เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศให้ดำเนินไปและเสร็จสิ้นลงได้ และขณะเดียวกันก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าที่เข้ามาอยู่ในอารักขาของตน โดยที่ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายเป็น CIF Bangkok ผู้ขายจึงมีหน้าที่จัดหาผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลและชำระค่าระวางล่วงหน้า ดังปรากฏตามใบตราส่ง ที่ระบุChina Xintai Longjiang and Exp Co.Ltd ผู้ขายเป็นผู้ส่ง ระบุธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือตามคำสั่ง เป็นผู้รับตราส่ง ระบุจำเลยเป็นผู้แจ้งการมาถึงของสินค้า และระบุค่าระวางได้ชำระแล้ว และมีสายการเดินเรือ Hafiz Darya Shipping Company เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลด้วยเรือ Daffodil จากข้อตกลงและพฤติการณ์ในทางปฏิบัติดังกล่าว เห็นว่า การที่เรือ Daffodil ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ขนส่งได้บรรทุกสินค้ามาส่งมอบขึ้นที่ท่าเรือที่โจทก์ให้บริการเป็นการนำมาส่งมอบไว้แก่โจทก์เพื่อให้จำเลยในฐานะผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายหรือผู้นำเข้าตามความหมายของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2569 มารับการส่งมอบไปจากโจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 665 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินที่รับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใดคืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น” กับพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 41 ที่บัญญัติว่า “ถ้ามีความจำเป็นด้วยประการใด ๆ เกี่ยวด้วยการศุลกากรที่จะกำหนดเวลาเป็นแน่นอนว่าการนำของใด ๆ เข้ามา จะพึงถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อไรไซร้ ท่านให้ถือว่าการนำของเข้ามาเป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่ายของจากเรือ หรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง” และมาตรา 10 ทวิ ที่บัญญัติว่า “ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ” และประกอบใบตราส่ง แล้ว เห็นได้ว่า โจทก์ทราบล่วงหน้าว่าจำเลยจะเป็นผู้รับมอบสินค้า และต่อเมื่อจำเลยหรือตัวแทนของจำเลยนำเอกสารเกี่ยวกับการรับสินค้า เช่น ใบตราส่ง ใบส่งมอบสินค้า และใบขนสินค้าขาเข้าที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร มาติดต่อขอรับสินค้าจากโจทก์พร้อมกับการชำระค่าภาระต่าง ๆ แล้วเท่านั้น โจทก์จึงจะส่งมอบสินค้าทั้งหมดให้แก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยได้ จึงเป็นกรณีที่ถือว่าโจทก์ได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนสินค้าแก่ผู้ใดก็จะคืนให้แก่ผู้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 665 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว และพร้อมกันนั้น ผู้นั้นก็จะต้องชำระค่าภาระต่าง ๆ แก่โจทก์ด้วย มิฉะนั้นโจทก์ก็มีสิทธิที่จะยึดหน่วงสินค้าเหล่านั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าภาระต่าง ๆ ทั้งนี้ตามมาตรา 670 สอดคล้องกับพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 61 และ 63 ซึ่งหมายถึง เมื่อของที่นำเข้ามากลายเป็นของตกค้างเพราะเหตุที่ไม่มีผู้ติดต่อขอรับและเสียค่าภาษี อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจสั่งให้จัดการกับของนั้นได้เช่น ด้วยการขายทอดตลาด ส่วนเงินที่ได้มาให้นำไปชำระค่าภาษี ค่าภาระติดพันต่าง ๆ รวมถึงค่าย้ายขน ค่าเก็บรักษา และโดยเหตุที่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏชัดว่าจำเลยมิได้ชำระค่าสินค้า มิได้ติดต่อขอรับเอกสารเกี่ยวกับการขนส่ง และดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อจะได้ขอรับสินค้าทั้งหมดไปจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรและโจทก์ พร้อมกับการชำระ ค่าภาระต่าง ๆ ทั้งเมื่อคำนึงถึงสิทธิหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศที่ผู้ซื้ออาจมีเหตุที่จะปฏิเสธการรับมอบสินค้าได้ ดังนี้ เมื่อจำเลยยังมิได้แสดงเจตนาต่อโจทก์เพื่อขอรับสินค้าที่โจทก์เก็บรักษาไว้ไปจากการดูแลจากอารักขาของศุลกากร จำเลยจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาระการให้บริการท่าเรือตามที่โจทก์เรียกร้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share