คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13165/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรต้องบังคับไปตามนั้น จะนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับไม่ได้เพราะ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เท่านั้น
ประเด็นแห่งคดีนี้ในการขอพิจารณาคดีใหม่คือจำเลยมีความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 โดยชอบหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการส่งหมายให้จำเลยชอบแล้วมีผลทางกฎหมายว่าจำเลยรู้ว่าตนถูกฟ้องคดี เท่ากับศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยรู้หรือไม่รู้ว่าถูกฟ้องคดีแล้วนั่นเอง
เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว ศาลแรงงานกลางกำหนดวันเวลานัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัดพร้อมส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยชอบ ถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้ว เมื่อจำเลยไม่มาตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 40 วรรคสอง จำเลยจึงต้องยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามมาตรา 41 เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เกินระยะเวลาดังกล่าว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ย ศาลแรงงานกลางกำหนดวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ 28 มกราคม 2557 เวลา 9 นาฬิกา โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลาดังกล่าว พร้อมสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมาย ณ สำนักงานเลขที่ 160/314 ชั้น 17 อาคารไอทีเอฟ-สีลมพาเลส ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ตามที่โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ครั้นถึงวันเวลานัดจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดให้พิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วให้เลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 9 นาฬิกา โดยออกหมายนัดส่งให้จำเลยด้วยวิธีปิดหมายตามภูมิลำเนาของจำเลยข้างต้น ถึงวันนัดจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางสืบพยานไปฝ่ายเดียว และพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
วันที่ 24 มิถุนายน 2557 จำเลยยื่นคำร้องว่าการดำเนินคดีของโจทก์ตั้งแต่ฟ้องจนถึงการบังคับคดี จำเลยเพิ่งทราบเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557ว่าถูกฟ้องโดยธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเพลินจิตเซ็นเตอร์ แจ้งว่ามีการอายัดเงินฝากของจำเลยจำเลยประกอบกิจการโรงแรมอยู่ที่เลขที่ 75 ซอยสุขุมวิท 2 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ซึ่งระบุในหนังสือรับรองการจดทะเบียนว่าเป็นสำนักงานสาขาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แม้บ้านเลขที่ 160/314 ชั้น 17 อาคารไอทีเอฟ-สีลมพาเลส ถนนสีลมแขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร จะระบุไว้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นสำนักงานใหญ่ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงสถานที่แห่งนี้ไม่มีพนักงานแม้แต่คนเดียวสถานที่ดังกล่าวเช่าไว้เพื่อระบุเป็นสำนักงานใหญ่เพื่อประโยชน์เดียวคือการแจ้งบัญชีภาษีอากรตามคำแนะนำของสำนักงานบัญชีเท่านั้น โดยเป็นที่รับรู้กันทั่วไปรวมทั้งโจทก์ด้วย แต่โจทก์กลับระบุที่อยู่ของจำเลยซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่มีคนอยู่ จำเลยไม่ได้จงใจขาดนัด ขอให้ศาลนัดไต่สวนคำร้องและอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องแล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยมีที่อยู่สำนักงานแห่งใหญ่อยู่ที่เลขที่ 160/314 ชั้น 17 อาคารไอทีเอฟ-สีลมพาเลส ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่เลขที่ 75 ซอยสุขุมวิท 2 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ทั้งสองแห่งถือเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69 แต่จำเลยมิได้จดแจ้งเจตนาว่าประสงค์จะใช้สำนักงานแห่งใหญ่เป็นภูมิลำเนาเฉพาะเพื่อการเสียภาษีหรือติดต่อกรมสรรพากรเท่านั้นไว้โดยชัดแจ้งในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งหรือในหนังสือรับรอง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะให้ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อการเสียภาษีหรือติดต่อกรมสรรพากรเท่านั้น เจ้าพนักงานเดินหมายส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายที่ภูมิลำเนาสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยตามคำสั่งศาลจึงเป็นการกระทำโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 ประกอบมาตรา 79 ต้องถือว่า จำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 แล้ว เมื่อศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว จำเลยขอให้พิจารณาคดีใหม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 จึงพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ประเด็นแห่งคดีนี้คือจำเลยมีความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28 มกราคม 2557 หรือไม่ ซึ่งการพิจารณาประเด็นดังกล่าวต้องพิจารณาเสียก่อนว่า จำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 โดยชอบหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการส่งหมายเรียกให้จำเลยมาศาล ณ ภูมิลำเนาซึ่งเป็นสำนักงานแห่งใหญ่ชอบแล้ว อันมีผลทางกฎหมายว่าจำเลยรู้ว่าจำเลยถูกฟ้องคดีแล้วซึ่งเท่ากับว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยรู้หรือไม่รู้ว่าถูกฟ้องคดีแล้ว นั่นเอง หาใช่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นนี้ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ประการต่อมาว่า กรณีของจำเลยต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 199 จัตวา ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 มาใช้บังคับ คือจำเลยยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงอันได้แก่วันที่ 16 มิถุนายน 2557 ที่จำเลยทราบว่าถูกฟ้อง เห็นว่า การพิจารณาคดีแรงงานมีวิธีพิจารณาต่างกับคดีแพ่งทั่ว ๆ ไปโดยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรก็ต้องบังคับไปตามนั้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เท่านั้น คดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วศาลแรงงานกลางได้กำหนดวันเวลานัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัดพร้อมส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยชอบแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 แล้ว เมื่อจำเลยไม่มาตามกำหนด โดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตาม มาตรา 40 วรรคสอง จำเลยขอให้พิจารณาคดีใหม่จึงต้องปฏิบัติตาม มาตรา 41 คือต้องยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นวันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด เมื่อจำเลยยื่นคำร้องในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ประการอื่นของจำเลยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share