คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1050/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจร้องขอรับรถยนต์คืนจากศาลแต่อย่างใดการที่ผู้ร้องยื่นหนังสือมอบอำนาจใหม่ต่อศาลฎีกาโดยมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในเรื่องดังกล่าวก็ไม่อาจทำให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจร้องขอรับรถยนต์คืนจากศาลชั้นต้นขึ้นมาได้ทั้งปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้.

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีอาญาให้ริบรถยนต์ของกลาง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลาง โจทก์คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนรถของกลางแก่ผู้ร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้รับมอบอำนาจไม่ได้รับมอบอำนาจให้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นคืนรถของกลางที่ศาลสั่งริบแทนผู้ร้อง พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อแรกที่ว่าผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์คันที่สั่งริบหรือไม่นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่ศาลชั้นต้นสั่งริบ ได้มอบอำนาจให้บริษัทวุฒิกิจคอมเมอร์เชียล จำกัด ร้องขอรถยนต์คืนจากศาลจังหวัดแพร่และมีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้ผู้อื่นทำการแทนได้ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.2 บริษัทวุฒิกิจคอมเมอร์เชียล จำกัด ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายจุลศักดิ์ แพทย์เจริญ มีอำาจตามรายละเอียดซึ่งปรากฏตามเอกสารหมาย ร.4 นั้น เมื่อเอกสารหมาย ร.4 ไม่ปรากฏว่าบริษัทวุฒิกิจคอมเมอร์เชียล ได้มอบอำนาจให้นายจุลศักดิ์ร้องขอรับรถยนต์คืนจากศาลแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจแัยว่านายจุลศักดิ์ไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์คันที่ศาลสั่งริบจึงชอบแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการที่บริษัทวุฒิกิจคอมเมอร์เชียล จำกัด มีหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 15ตุลาคม 2528 ให้นายจุลศักดิ์ แพทย์เจริญ มีอำนาจขอรับรถยนต์คันที่ศาลชั้นต้นสั่งริบ โดยยื่นหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวต่อศาลฎีกานั้น จึงไม่อาจทำให้นายจุลศักดิ์มีอำนาจร้องขอรับรถยนต์คืนจากศาลชั้นต้นขึ้นมาได้
ปัญหาข้อต่อไปมีว่าศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกปัญหาที่ว่านายจุลศักดิ์ แพทย์เจริญ มีอำนาจขอรับรถคันที่ศาลสั่งริบคืนขึ้นมาวินิจฉัยได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ปัญหาในเรื่องอำนาจของนายจุลศักดิ์ ผู้รับมอบอำนาจมีเพียงใดนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ แม้ปัญหานี้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share