แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคมหาชนตามที่ผู้คัดค้านอ้าง และข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ผู้ร้องได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยส่งไปถึงพรรคไทยรักไทยแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2547 ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 22 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ…(2) ลาออก จึงต้องถือว่าการลาออกจากสมาชิกพรรคไทยรักไทยของผู้ร้องมีผลเมื่อหนังสือของผู้ร้องไปถึงพรรคไทยรักไทย ความเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยของผู้ร้องจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ตุลาคม 2547 นับแต่วันที่ความเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยของผู้ร้องสิ้นสุดลงดังกล่าว ผู้ร้องคงเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แต่เพียงพรรคเดียว ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 เมื่อนับถึงวันรับสมัครเลือกตั้งผู้ร้องจึงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องจึงมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับสมัครผู้ร้องและประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านไม่รับสมัครผู้ร้องและไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน จึงต้องวินิจฉัยต่อไปประการแรกว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคมหาชนตามที่ผู้คัดค้านอ้างหรือไม่ วันนัดพิจารณาผู้ร้องแถลงยืนยันว่า ผู้ร้องไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคมหาชนตามที่ปรากฏในข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนผู้คัดค้านยอมรับว่า ข้อมูลตามข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองที่ระบุว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคมหาชนในวันที่ 22 ตุลาคม 2543 นั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะพรรคมหาชนเพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 2547 ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านเองยอมรับว่า ข้อมูลที่ระบุว่าผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคมหาชนในวันที่ 22 ตุลาคม 2547 ดังกล่าวเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคมหาชนตามที่ผู้คัดค้านอ้าง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้ร้องลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยแล้วหรือไม่เมื่อใด ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ผู้ร้องได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยส่งไปถึงพรรคไทยรักไทยแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2547 ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 22 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ…(2) ลาออก จึงต้องถือว่าการลาออกจากสมาชิกพรรคไทยรักไทยของผู้ร้องมีผลเมื่อหนังสือของผู้ร้องไปถึงพรรคไทยรักไทย ความเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยของผู้ร้องจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ตุลาคม 2547 นับแต่วันที่ความเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยของผู้ร้องสิ้นสุดลงดังกล่าว ผู้ร้องคงเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แต่เพียงพรรคเดียว ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 เมื่อนับถึงวันรับสมัครเลือกตั้งผู้ร้องจึงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องจึงมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4) ที่ผู้คัดค้านไม่รับสมัครผู้ร้อง และไม่ประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คำร้องของผู้ร้องฟังขึ้น
จึงมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับสมัครผู้ร้องและประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมาย.