คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8844/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 30 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านเป็นผู้มีหน้าที่พิสูจน์ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด บทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์ เมื่อผู้คัดค้านเบิกความแต่เพียงลอย ๆ ว่าจำเลยขอยืมรถยนต์ไปทำงาน ไม่ทราบว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดแต่ไม่ปรากฏเหตุผลความจำเป็น พฤติการณ์ของจำเลยที่ค้ายาเสพติดผู้คัดค้านซึ่งเป็นภริยาควรจะต้องทราบเรื่องบ้าง พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงยังไม่มีน้ำหนัก

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2542ตามคดีหมายเลขดำที่ 388/2542 ของศาลชั้นต้น ฐานมียาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปรากฏว่าของกลางที่ยึดได้ คือ รถยนต์ยี่ห้อนิสสันและโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง เป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้เป็นยานพาหนะและอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงขอให้ริบของกลางดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31

พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นเป็นเวลาสองวันติดต่อกันให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางดังกล่าวยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีแล้ว

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า รถยนต์ยี่ห้อนิสสันรุ่นเซฟฟิโร่หมายเลขทะเบียน 8ฐ-4103 กรุงเทพมหานคร เป็นของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ขอให้มีคำสั่งคืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน รุ่นเซฟฟิโร่ สีขาว หมายเลขทะเบียน 8ฐ-4103 กรุงเทพมหานคร กับโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อโมโตโรล่า หมายเลขโทรศัพท์ 01-9375039 และยี่ห้อโนเกีย หมายเลขโทรศัพท์ 01-9272108 ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่ารถยนต์ยี่ห้อนิสสัน รุ่นเซฟฟิโร่ หมายเลขทะเบียน 8ฐ-4103 กรุงเทพมหานครของกลางในคดีนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านซึ่งจำเลยสามีผู้คัดค้านนำรถยนต์คันดังกล่าวนี้ใช้เป็นยานพาหนะและอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ริบรถยนต์ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คดีคงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านดังที่ผู้คัดค้านฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสามบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านเป็นผู้มีหน้าที่พิสูจน์ว่า ตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด บทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์ ดังนั้นที่ผู้ร้องคัดค้านฎีกาว่าหากมีกรณีสงสัย ควรยกประโยชน์แห่งการนี้ให้เป็นคุณแก่ผู้คัดค้านนั้น จึงฟังไม่ขึ้น เมื่อผู้คัดค้านเบิกความแต่เพียงลอย ๆ ว่า จำเลยขอยืมรถยนต์ของกลางนี้ไปทำงานที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ไม่ทราบว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิด โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเหตุใดจึงต้องยืมรถยนต์ของผู้คัดค้านซึ่งใช้งานอยู่ตามปกติที่จังหวัดสุรินทร์ไปใช้ และจะต้องเป็นการยืมข้ามวันข้ามคืน สถานที่ที่จำเลยอ้างว่าจะนำรถยนต์ไปใช้นั้นเป็นแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี จึงมิใช่สถานที่อยู่ตามปกติของจำเลยประกอบกับจำเลยได้นำรถยนต์ของกลางไปติดต่อซื้อยาเสพติดและขนยาเสพติดจากจังหวัดลำปางเพื่อนำเข้ากรุงเทพมหานครแสดงว่าต้องมีพฤติการณ์เช่นนี้มาก่อนแล้ว จำเลยจึงทราบถึงแหล่งในการจัดหาและนำมาจำหน่าย ผู้คัดค้านซึ่งเป็นภริยาของจำเลยควรจะต้องทราบเรื่องดังกล่าวนี้บ้าง เมื่อผู้คัดค้านนำสืบแต่เพียงลอย ๆ โดยมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานผู้ร้องได้ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาริบรถยนต์ของกลางจึงชอบแล้วฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share