คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2364/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป. ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่ดินโฉนดพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทซึ่งรวมทั้งจำเลยซึ่งเป็นบุตรด้วยในทันที แม้ที่ดินโฉนดพิพาทจะเป็นชื่อ ล. แต่ก็ระบุรับโอนที่ดินโฉนดพิพาทในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. จึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันให้แก่ทายาทและ ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทรวมทั้งจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดพิพาทรวมอยู่ด้วย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยย่อมมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดพิพาทมาบังคับคดีได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน46,062.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างบังคับคดีโจทก์ยื่นคำแถลงขออนุญาตยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19928 ตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดเดิมมีชื่อนายประสงค์ เชื้อจิตร บิดาจำเลยซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และจำเลยเป็นทายาท 1 ใน 5 คนของเจ้ามรดกต่อมาศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งตั้งนายลอด เชื้อกิจ เป็นผู้จัดการมรดกของนายประสงค์และมีชื่อนายลอดในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดก แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งยกคำสั่งแถลงขอยึดที่ดินของโจทก์ โดยอ้างเหตุผลว่าในโฉนดที่ดินไม่ปรากฏชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางอนุญาตยึดที่ดินโฉนเลขที่ 19928ตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ดังกล่าว ซึ่งจำเลยในฐานะทายาท 1 ใน 5 คน ของนายประสงค์เจ้ามรดกมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย เพื่อขายทอดตลาดนำเงินเฉพาะส่วนของจำเลยมาชำระหนี้แก่โจทก์

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ที่ดินที่โจทก์มีคำร้องขออนุญาตยึดปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นชื่อของผู้จัดการมรดก มิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแม้จำเลยจะเป็นทายาทด้วยคนหนึ่ง กรณีก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นของจำเลยด้วย กรณียังไม่อาจอนุญาตให้ยึดที่ดินนี้ได้ ให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เดิมโฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อนายประสงค์ เชื้อจิตร บิดาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมานายประสงค์ถึงแก่ความตาย ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งตั้งนายลอด เชื้อกิจ เป็นผู้จัดการมรดก(ไม่มีพินัยกรรม) ของนายประสงค์ และในวันที่ 11 สิงหาคม 2541 ในสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดที่ดินพิพาทระบุชื่อนายลอดรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายประสงค์ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายประสงค์ ปัญหาว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยจะยึดที่ดินโฉนดที่พิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินเฉพาะส่วนของจำเลยมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตายมรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทและมาตรา 1603 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า กองมรดกทอดย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ดังนั้น เมื่อนายประสงค์บิดาจำเลยถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ที่ดินโฉนดพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนายประสงค์จึงตกทอดแก่ทายาทของนายประสงค์ซึ่งรวมทั้งจำเลยด้วยในทันที แม้ว่าที่ดินโฉนดพิพาทที่โจทก์มีคำร้องขออนุญาตยึดจะปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นชื่อนายลอด เชื้อกิจ มิใช่เป็นชื่อจำเลย แต่ในเอกสารดังกล่าวก็ระบุว่านายลอดรับโอนที่ดินโฉนดพิพาทมาในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายประสงค์ ที่ดินโฉนดพิพาทจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของนายประสงค์ซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง มิใช่เป็นของนายลอดเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด และนายลอดในฐานะผู้จัดการมรดกก็มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ทายาททั้ง 5 คนของนายประสงค์รวมทั้งจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดพิพาทรวมอยู่ด้วย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาของจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดพิพาทมาบังคับคดีได้ ที่ศาลแรงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ อนุญาตให้โจทก์ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19928 ตำบลเด่นราษฎร์อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ออกขายทอดตลาดนำเงินเฉพาะส่วนของจำเลยมาชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา

Share