แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย โดยอ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เพราะจำเลยมิได้ประสบภาวะการขาดทุน แต่จำเลยกลับมีรายได้และกำไร ไม่มีเหตุจำเป็นใด ๆ ที่จำเลยจะต้องเลิกจ้างโจทก์ จำเลยยังสามารถหามาตรการอื่น ๆ เช่น ให้โจทก์ไปทำงานในแผนกอื่นหรือตำแหน่งอื่นได้ เป็นการกล่าวหาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนที่จะดำเนินการในศาลแรงงาน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในกรณีดังกล่าวต่อศาลแรงงานได้โดยไม่ต้องร้องเรียนหรือปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 124 แห่ง พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เสียก่อน กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
ส่วนข้ออ้างอีกประการหนึ่งตามคำบรรยายฟ้องที่ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับโดยไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น กรณีฝ่าฝืนมาตรา 123 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 124 มิได้บังคับให้ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะเรียกร้องสิ่งใด แต่ถ้าผู้เสียหายประสงค์จะเรียกร้อง ผู้เสียหายจะต้องกระทำโดยการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนอันแสดงให้เห็นว่ามีการบังคับให้ผู้เสียหายต้องกระทำ เมื่อฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยฝ่าฝืนมาตรา 123 ขอให้รับโจทก์เข้าทำงานต่อไปและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าค่าจ้างเดือนสุดท้ายโดยโจทก์มิได้ร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสียก่อนตามมาตรา 124 โจทก์จึงดำเนินการในศาลแรงงานโดยฟ้องจำเลยในกรณีนี้ไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2533 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งผู้จัดการแผนกข้อมูลข่าวสาร ได้รับเงินเดือนสุดท้ายในอัตราเดือนละ 66,340 บาท และค่าน้ำมันรถที่จำเลยจ่ายเหมาให้โจทก์เป็นรายเดือน และถือเป็นค่าจ้างอีกเดือนละ 5,000 บาท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2539 สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานประจำและในสถานประกอบการของจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้กับจำเลยมีผลใช้บังคับ 2 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540ซึ่งอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และจำเลยมีผลใช้บังคับ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์และลูกจ้างอื่น ๆ ในแผนกข้อมูลข่าวสาร โดยให้เหตุผลทางธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2540 และได้จ่ายเงินเดือนค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน เนื่องจากมิได้บอกกล่าวล่วงหน้ากับจ่ายเงินโบนัสและค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมเนื่องจากจำเลยมิได้ประสบภาวะการขาดทุน และไม่มีเหตุจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเลิกจ้างโจทก์เพราะยังสามารถหามาตรการอื่น ๆแก้ไขได้โดยไม่ต้องเลิกจ้างโจทก์ นอกจากนี้การเลิกจ้างดังกล่าวอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ และเหตุผลในการเลิกจ้างไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิม และรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าค่าจ้างเดือนสุดท้ายเดือนละ 71,340 บาท นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2540อันเป็นวันถัดจากวันที่จำเลยได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ถึงวันที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงาน พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันครบกำหนดจ่ายเงินเดือนแต่ละเดือนถึงวันที่ชำระเสร็จ หรือให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเท่าเงินเดือนสุดท้ายของโจทก์เป็นเวลา 8 เดือน เป็นเงินทั้งสิ้น570,720 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22เมษายน 2540 อันเป็นวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และจำเลยมีผลใช้บังคับ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์และลูกจ้างอื่น ๆ ในแผนกข้อมูลข่าวสารของจำเลยโดยให้เหตุผลทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ในระหว่างเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมิได้ประสบภาวะขาดทุน แต่บริษัทจำเลยกลับมีผลกำไรอย่างมหาศาล และไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใด ๆ ที่จะเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้การเลิกจ้างดังกล่าวอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ และเหตุผลในการเลิกจ้างดังกล่าวไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้นตามสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งโจทก์ต้องยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 124 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทในคดีนี้ก่อนแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม และรับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยอ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมเพราะจำเลยมิได้ประสบภาวะการขาดทุน แต่จำเลยกลับมีรายได้และกำไรไม่มีเหตุจำเป็นใด ๆ ที่จำเลยจะต้องเลิกจ้างโจทก์ จำเลยยังสามารถหามาตรการอื่น ๆ เช่น ให้โจทก์ไปทำงานในแผนกอื่นหรือตำแหน่งอื่นได้นั้นเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนที่จะดำเนินการในศาลแรงงาน ดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในกรณีดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องร้องเรียนหรือปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เสียก่อน กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
ส่วนข้ออ้างอีกประการหนึ่งตามคำบรรยายฟ้องที่ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคบและเหตุผลในการเลิกจ้างของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์นั้น เห็นว่า ในส่วนนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 123 นั้น มาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติวา “เมื่อมีการฝ่าฝืนมาตรา 121 มาตรา 122 หรือมาตรา 123ผู้เสียหายเนื่องจากการฝ่าฝืนอาจยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืน” บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะเรียกร้องสิ่งใด แต่ถ้าผู้เสียหายประสงค์จะเรียกร้องผู้เสียหายจะต้องกระทำโดยการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการฝ่าฝืน อันแสดงให้เห็นว่ามีการบังคับให้ผู้เสียหายต้องกระทำ เมื่อฟ้องโจทก์ในส่วนนี้กล่าวหาว่าจำเลยฝ่าฝืนมาตรา 123ขอให้รับโจทก์เข้าทำงานต่อไปและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าค่าจ้างเดือนสุดท้ายโดยมิได้ร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสียก่อนตามมาตรา 124 โจทก์จึงดำเนินการในศาลแรงงานกลางโดยฟ้องจำเลยในกรณีนี้ไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะข้อที่กล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง