แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านทำสัญญาต่อกันว่าผู้คัดค้านจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องต่อเมื่อผู้คัดค้านได้รับอนุญาตจากสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดชัยนาทก่อน เนื่องจากที่ดินอยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน สัญญาดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย การครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองแทนผู้คัดค้าน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 นอกจากนี้การที่ผู้คัดค้านฟ้องผู้ร้องเพื่อไถ่ถอนการจำนองที่ดินพิพาทและศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านหมดสิทธิไถ่ถอนการจำนอง เพราะได้แปลงหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายแล้ว แม้คำพิพากษาดังกล่าวจะผูกพันผู้ร้องกับผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่งก็ตาม ก็มีผลเพียงว่าผู้ร้องมีสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวเท่านั้น จะถือว่าหลังจากเสร็จคดีตลอดมาเป็นพฤติการณ์บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทมาเป็นยึดถือเพื่อตนหาได้ไม่ จึงไม่อาจนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเหตุให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ผู้ร้องถึงแก่ความตาย นางลำจวน เจตนะจิตร ผู้จัดการมรดกของผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้คัดค้านได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้ผู้ร้องนำมาชำระต่อศาลในนามของผู้คัดค้าน
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1431 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 62 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้ ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2519 ผู้คัดค้านจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ผู้ร้อง หลังจากนั้นผู้คัดค้านได้ยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอไถ่ถอนจำนอง แต่ผู้คัดค้านขาดนัดพิจารณา ปรากฏว่าในคดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านกับผู้ร้องได้ตกลงแปลงหนี้ตามสัญญาจำนองและหนี้เงินกู้ที่ทำกันไว้แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของราคาซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งได้ตกลงกันตามสัญญาจะซื้อขาย คดีถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1428/2530 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2530 และขณะยื่นคำร้องขอคดีนี้ ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2530 มาโดยตลอด ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นฎีกาของผู้ร้องในประการแรกเสียก่อนว่า นับแต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2530 แล้ว การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องถือได้ว่าโดยพฤติการณ์เป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือเป็นการยึดถือเพื่อตนแล้วหรือไม่ เห็นว่า นิติสัมพันธ์ของผู้ร้องกับผู้คัดค้านสำหรับที่ดินพิพาทตามสัญญาที่มีต่อกันครั้งล่าสุด ผู้คัดค้านจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องก็ต่อเมื่อผู้คัดค้านได้รับอนุญาตจากสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดชัยนาทเสียก่อน เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในท้องที่ที่จะสำรวจเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย การครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของผู้คัดค้านอันเป็นการยึดถือที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เท่านั้น หากผู้ร้องประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือ ผู้ร้องก็ชอบที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 โดยบอกกล่าวไปยังผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้านอีกต่อไป แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ว่าผู้ร้องได้ดำเนินการเช่นนั้น ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านทนายความผู้คัดค้านรับว่า หลังจากคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องไม่เคยนัดผู้คัดค้านไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง และไม่เคยมอบหมายให้นายไวยวุฒิ บุตรชายของผู้ร้องไปตามหาผู้คัดค้านเพื่อให้ดำเนินการเช่นนั้น อันเป็นการทำลายน้ำหนักคำเบิกความของนายไวยวุฒิพยานผู้ร้องซึ่งเบิกความว่า เคยไปตามผู้คัดค้านเพื่อให้ทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง นอกจากนี้การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการแก่ผู้คัดค้านทั้งๆ ที่ได้เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินพิพาทจนเกิดเป็นคดีความต่อกัน อีกทั้งก่อนหน้านั้นในปี 2517 และปี 2518 ผู้ร้องกับผู้คัดค้านก็ได้ทำการซื้อขายที่ดินรวม 2 คราวด้วยกัน นิติกรรมทั้งสองคราวนั้นได้กระทำตามแบบของนิติกรรมทั้งสิ้น ทางนำสืบของผู้ร้องจึงขัดต่อเหตุผลและผิดวิสัยไม่อาจรับฟังได้ ส่วนกรณีที่ผู้คัดค้านฟ้องผู้ร้องเพื่อให้ยินยอมให้ผู้คัดค้านไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทซึ่งคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1428/2530 ประเด็นข้อพิพาทในคดีนั้นมีเพียงว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทได้หรือไม่เท่านั้น ผลคดีก็ปรากฏจากคำวินิจฉัยของศาลว่า ผู้คัดค้านหมดสิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทเพราะได้มีการแปลงหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายแล้ว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวซึ่งแม้จะผูกพันผู้ร้องกับผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และอาจจะก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องที่จะดำเนินการบังคับผู้คัดค้านให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาจะซื้อขายที่มีต่อกันหากผู้ร้องปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้จะซื้อครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่จะให้รับฟังข้อเท็จจริงถึงขั้นว่าหากผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทภายหลังจากเสร็จคดีตลอดมา ก็จะต้องถือว่าโดยพฤติการณ์เป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทมาเป็นยึดถือเพื่อตนแล้วหาได้ไม่ เพราะเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงต่างประเด็นกัน ฉะนั้น จึงไม่อาจนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเหตุให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องอีกต่อไป ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ