คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นทรัพย์ซึ่งจำเลยกับผู้ร้องตกลงถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสืบไปโดยให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายรักษาไว้ เช่นนี้ จำเลยยังไม่ขาดสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับที่ดินนั้น ผู้ร้องจะถือว่าได้สิทธิโดยการครอบครองเกิน 1 ปีหาได้ไม่
โจทก์มีสิทธินำยึดที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยและผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ผู้ร้องจะขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ดังกล่าวนี้หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์นำเข้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน 1 แปลง เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลย

ผู้ร้องขัดทรัพย์ว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นของผู้ร้อง ๆ ซื้อมาระหว่างเป็นสามีภรรยากับจำเลย ต่อมาผู้ร้องได้จดทะเบียนหย่าขาดกับจำเลย ๆ ไม่ได้เรียกร้องขอแบ่งภายในอายุความ 1 ปี จำเลยจึงหมดสิทธิเรียกร้องขอแบ่งสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 185 ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินรายนี้ในฐานะเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวจนบัดนี้ จึงตกเป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียว หนี้ที่จำเลยกู้เงินจากโจทก์เป็นหนี้เฉพาะส่วนตัวของจำเลย ผู้ร้องมิได้อนุญาตหรือยินยอมด้วย ขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังว่า ที่ดินรายนี้เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง และปรากฏตามบันทึกหนังสือหย่าระหว่างจำเลยกับผู้ร้องว่า ที่ดินแปลงนี้ยังไม่ได้แบ่งกัน ทั้งสองฝ่ายตกลงให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน จำเลยจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่โจทก์นำยึดร่วมกับผู้ร้อง ผู้ร้องจะขอให้ถอนการยึดหรือปล่อยทรัพย์ที่ยึดไม่ได้

ผู้ร้องฎีกาขอให้ปล่อยทรัพย์

ข้อที่ผู้ร้องฎีกาว่า ที่ดินแปลงที่ยึดนี้เป็นของจำเลยฝ่ายเดียวหรือเป็นของผู้ร้องโดยจำเลยหมดสิทธิเรียกร้องขอแบ่งแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คู่ความแถลงรับกันว่าที่ดินที่โจทก์นำยึดนี้เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง และในหนังสือหย่าระหว่างจำเลยกับผู้ร้องได้บันทึกไว้ว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้แบ่งทรัพย์กันเพราะไม่สามารถแบ่งแยกได้ จึงตกลงถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสืบไปโดยให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายรักษาไว้ เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงต้องฟังว่า ที่ดินรายนี้เป็นทรัพย์ที่จำเลยและผู้ร้องตกลงเป็นเจ้าของร่วมกันและจำเลยยังไม่ขาดสิทธิเรียกร้อง ผู้ร้องจะถือว่าได้สิทธิโดยการครอบครองเกิน 1 ปีไม่ได้

ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า หากเป็นสินสมรสของผู้ร้องกับจำเลย โจทก์จะบังคับคดีเอาเฉพาะส่วนของจำเลยหรือบังคับคดีเอาได้ทั้งหมดตลอดถึงส่วนของผู้ร้องด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อวินิจฉัยว่าที่ดินรายนี้เป็นทรัพย์ที่จำเลยและผู้ร้องตกลงถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โจทก์ก็มีสิทธิยึดได้ เรื่องนี้ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึด เมื่อสั่งปล่อยไม่ได้ ก็ต้องยกคำร้องของผู้ร้องนั้นนี้ ยังไม่มีประเด็นว่าผู้ร้องจะมีส่วนได้ในที่ดินแปลงนี้เท่าใดและจะต้องรับผิดในหนี้สินรายนี้ด้วยหรือไม่

ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share