คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ชายหญิงมีเพศสัมพันธ์กันโดยความยินยอมพร้อมใจในสถานที่อันมิดชิดและเหมาะสมเป็นวิถีชีวิตตามปกติของสังคมมนุษย์ และถือเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัว ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง” ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ แต่ก็หาอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น การที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เคยนำเสนอภาพและข่าวไปก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าชายหญิงในภาพเป็นใครมาเผยแพร่ซ้ำโดยระบุในเนื้อข่าวว่า ชายในภาพที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักคือโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องแจ้งชื่อ ลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดได้กระทำลงนั้นเป็นหน้าที่ที่ผู้เสียหายต้องกระทำในการร้องทุกข์กล่าวโทษตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 123 กำหนดไว้ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิของตนจากการถูกละเมิด จะถือว่าโจทก์ยินยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชนหาได้ไม่ ยิ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาข่าวที่จำเลยทั้งสองนำมาลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์พบว่ามีขอบเขตที่กว้างกว่าการเสนอข่าวการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
แม้โจทก์จะเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ย่อมมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว มิใช่ว่าเมื่อเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะแล้วจะทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด ทั้งการที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับหญิงคนรักซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้มาเผยแพร่ซ้ำ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสาธารณชน มีแต่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้น
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 มิใช่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ตามมาตรา 423 โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของตนโดยประการอื่นอันเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 423 ได้ โจทก์คงเรียกได้เฉพาะค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเท่านั้น
การที่จำเลยทั้งสองไม่เคยเสนอข่าวในทางที่ทำให้โจทก์เสียหายมาก่อน เพิ่งมาเสนอข่าวหลังจากโจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่นำข่าวและภาพโจทก์มีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักไปเผยแพร่ก่อนหน้านั้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยังมีจรรยาบรรณของผู้มีอาชีพสื่อมวลชนอยู่ ทั้งเนื้อข่าวบางส่วนน่าจะมีผลเป็นการปรามผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์อยู่หรือคิดจะกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้หยุดการกระทำหรือยกเลิกความคิดที่จะกระทำนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองถือว่าไม่ร้ายแรงมากนัก เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้หนึ่งที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะมีบุคคลอื่นกระทำละเมิดด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้กระทำละเมิดรายนั้น ๆ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลปรับลดค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดลง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็ดี หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ดี ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการที่จะควบคุมอำนาจรัฐและผดุงไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นการทั่วไป มิใช่กฎหมายที่บัญญัติกำหนดความรับผิดของบุคคลในกรณีที่มีการกระทำละเมิดกันไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 จะบัญญัติคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และมาตรา 28 บัญญัติให้ผู้ถูกกระทำละเมิดสามารถยกขึ้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันนี้ก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 194,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์คมชัดลึกจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่เสนอข่าวหรือลงพิมพ์บทความ การตรวจ คัดเลือก จัดทำข่าว ที่ตีพิมพ์เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการซึ่งต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ข้อความที่โจทก์นำมาฟ้องมิใช่การไขข่าวซึ่งข้อความอันเป็นเท็จ แต่เป็นการรายงานข่าวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงและอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป โจทก์มิได้เสียหายตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,040,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะบริหารธุรกิจและผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสมาชิกกรรมการบริหาร และรองโฆษกพรรคความหวังใหม่ เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นกรรมการบริหารของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2546 มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับและสื่อต่าง ๆ เผยแพร่ข่าวและรูปภาพชายหญิงกำลังร่วมเพศโดยตกแต่งภาพให้มัวมองเห็นไม่ชัด ต่อมาหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม 2546 ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ได้ลงพิมพ์ข้อความ โดยระบุว่า ผู้ชายที่ปรากฏในรูปภาพชายหญิงกำลังร่วมเพศกัน คือโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นการทำหน้าที่ในฐานะสื่อสารมวลชน ข่าวที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเป็นข่าวที่มีมาจากการที่โจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งการเสนอข่าวในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเพราะจะทำให้บุคคลที่ได้อ่านข่าวทราบว่าโจทก์ถูกกลั่นแกล้งจากอดีตภริยาของโจทก์และจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าโจทก์ซึ่งเป็นนักการเมือง มีความน่าเคารพและน่าเชื่อถือได้เพียงใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า การที่ชายหญิงมีเพศสัมพันธ์กันโดยความยินยอมพร้อมใจในสถานที่อันมิดชิดและเหมาะสมเป็นวิถีชีวิตตามปกติของสังคมมนุษย์ และถือเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัว ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง” ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ แต่ก็หาอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น การที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เคยนำเสนอภาพและข่าวไปก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าชายหญิงในภาพเป็นใครมาเผยแพร่ซ้ำโดยระบุในเนื้อข่าวว่า ชายในภาพที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักคือโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกาว่า โจทก์ยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำข้อเท็จจริงต่าง ๆ มาเผยแพร่ได้นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องแจ้งชื่อ ลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดได้กระทำลงนั้นเป็นหน้าที่ที่ผู้เสียหายต้องกระทำในการร้องทุกข์กล่าวโทษตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 กำหนดไว้ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิของตนจากการถูกละเมิด จะถือว่าโจทก์ยินยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชนหาได้ไม่ ยิ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาข่าวที่จำเลยทั้งสองนำมาลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม 2546 พบว่ามีขอบเขตที่กว้างกว่าการเสนอข่าวการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 29 สิงหาคม 2546 ที่พาดหัวข่าวว่า “ดร. แจ้งจับเมียแพร่ซีดีไฮโซฉาว… ดร. พระเอก “วีซีดีไฮโซสาว” แจ้งจับอดีตเมียและแม่ยาย อ้างเป็นต้นตอนำ “วีดีโอ” ภาพการร่วมรักกับแฟนสาวไฮโซออกเผยแพร่… รวมทั้งถ้อยคำในข่าวหน้า 15 ที่ระบุว่า “สำหรับวีซีดีไฮโซดังกล่าวได้เผยแพร่ออกสู่สายตาประชาชนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม โดยเป็นภาพการร่วมรักระหว่างนาย อ. กับแฟนไฮโซ ซึ่งเป็นลูกสาวของบุคคลที่มีชื่อเสียงของเมืองไทยในลีลาต่าง ๆ…” ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองข้างต้นจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์เป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงสามารถนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวโจทก์มาเปิดเผยได้ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ย่อมมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว มิใช่ว่าเมื่อเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะแล้วจะทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด ทั้งการที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับหญิงคนรักซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้มาเผยแพร่ซ้ำ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสาธารณชน มีแต่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้นซึ่งข้อนี้จำเลยที่ 2 ได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ว่า ไม่สามารถอธิบายได้ว่าการลงข่าวดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างไร เท่ากับเป็นการยอมรับว่าข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของโจทก์กับหญิงคนรักไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนตามที่กล่าวอ้าง สำหรับที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกาว่า ข่าวที่ลงไปนั้นจะช่วยบรรเทาความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นข่าวที่เกิดประโยชน์แก่โจทก์โดยตรงนั้น เห็นว่า นอกจากตัวโจทก์เองที่เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนแล้ว บุคคลโดยทั่วไปที่อยู่ในภาวะเดียวกับโจทก์ก็ไม่น่าจะมีบุคคลใดที่ยินดีให้จำเลยทั้งสองนำชื่อของตนไปเปิดเผยว่าเป็นบุคคลเดียวกับบุคคลที่ปรากฏในภาพการมีเพศสัมพันธ์ที่ตกเป็นข่าว ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และของจำเลยทั้งสองว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดยังน้อยเกินไป และการที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้จากการเป็นกรรมการบริหารบริษัทประสิทธิรัตน์ จำกัด และการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินบริษัทบราโว แอนด์ ซับพลาย จำกัด โดยเห็นว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งการที่ศาลล่างทั้งสอง เห็นว่าไม่อาจแยกความเสียหายจากการถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิในชื่อเสียงและความเป็นอยู่ส่วนตัวตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรับรองและคุ้มครองออกจากความเสียหายจากการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ได้นั้นเป็นการไม่ชอบ ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดนั้นสูงเกินไป เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิใช่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ตามมาตรา 423 โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของตนโดยประการอื่นอันเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 423 ได้ โจทก์คงเรียกได้เฉพาะค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเท่านั้น กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของโจทก์และของจำเลยทั้งสองที่เกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนอื่น ๆ สำหรับค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวนั้นเมื่อพิเคราะห์ถึงการที่จำเลยทั้งสองไม่เคยเสนอข่าวในทางที่ทำให้โจทก์เสียหายมาก่อน เพิ่งมาเสนอข่าวหลังจากโจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่นำข่าวและภาพโจทก์มีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักไปเผยแพร่ก่อนหน้านั้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยังมีจรรยาบรรณของผู้มีอาชีพสื่อมวลชนอยู่ ทั้งเนื้อข่าวบางส่วนน่าจะมีผลเป็นการปรามผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์อยู่หรือคิดจะกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้หยุดการกระทำหรือยกเลิกความคิดที่จะกระทำนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองถือว่าไม่ร้ายแรงมากนัก เห็นควรปรับลดค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมา โดยกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกาว่า มีบุคคลอื่นกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยศาลจึงควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพียงบางส่วนเท่านั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้หนึ่งที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะมีบุคคลอื่นกระทำละเมิดด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้กระทำละเมิดรายนั้น ๆ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลปรับลดค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดลงสำหรับโจทก์ที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว และมาตรา 28 บัญญัติให้บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้สามารถยกบทบัญญัติมาตราดังกล่าวข้างต้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้จึงเป็นการบัญญัติความรับผิดต่างหากจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็ดี หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ดี ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการที่จะควบคุมอำนาจรัฐและผดุงไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นการทั่วไป มิใช่กฎหมายที่บัญญัติกำหนดความรับผิดของบุคคลในกรณีที่มีการกระทำละเมิดกันไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 จะบัญญัติคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และมาตรา 28 บัญญัติให้ผู้ถูกกระทำละเมิดสามารถยกขึ้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันนี้ก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เว้นแต่ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย

Share