คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์ประกอบอุตสาหกรรมผลิตปูนซิเมนต์ ใช้ท่าเทียบเรือเพื่อยกปูนซิเมนต์ขึ้นบรรทุกรถยนต์นำไปเก็บไว้ในโรงเก็บสินค้า ใช้อาคารสำนักงานให้พนักงานทำงานด้านธุรการ ไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ผลิตปูนซิเมนต์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์อยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา จึงไม่ได้รับงดเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตาม พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา10

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 1 กับคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 2 เฉพาะอาคารสำนักงาน ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีโรงเรือนให้โจทก์ 1,700 บาท ถ้าไม่คืนภายใน 3 เดือนนับแต่ศาลตัดสิน ให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 1 กับคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 2 สำหรับท่าเทียบเรือด้วยให้คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 34,254 บาท แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีคงมีประเด็นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า ท่าเทียบเรือและอาคารสำนักงานของโจทก์นั้นได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตปูนซิเมนต์ได้ใช้ท่าเทียบเรือเพื่อยกปูนซิเมนต์ขึ้นบรรทุกรถยนต์นำไปเก็บไว้ในโรงเก็บสินค้าของโจทก์เท่านั้น ส่วนอาคารสำนักงานนั้นโจทก์ใช้เป็นที่ให้พนักงานของโจทก์ทำงานด้านธุรการไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ผลิตปูนซิเมนต์ พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 10 และพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 บัญญัติว่า”โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งเจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาและซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรม ท่านให้งดเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นไป” เห็นว่าการที่โจทก์ใช้ท่าเทียบเรือเพื่อยกปูนซิเมนต์ก็ดี ใช้อาคารสำนักงานให้พนักงานของโจทก์ทำงานด้านธุรการก็ดี ถือไม่ได้ว่าโจทก์อยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โจทก์จึงไม่ได้รับงดเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว”

พิพากษายืน

Share