แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้พฤติการณ์ในการประวิงคดีจะสืบเนื่องมาจากการกระทำของทนายความ แต่จำเลยก็ต้องรับรู้และหาหนทางแก้ไขในฐานะที่เป็นผู้แต่งตั้งทนายความให้กระทำการแทนตน เมื่อจำเลยเพิกเฉยปล่อยให้ทนายความของตนที่ยืนยันว่าไม่อาจมาศาลได้ในวันนัดสืบพยานโจทก์ที่ศาลชั้นต้นนัดไว้ล่วงหน้าทั้งสามครั้ง ยังคงรับผิดชอบคดีของตนต่อไปอีก ถือได้ว่าเป็นการประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีนั้นชอบแล้ว
บริษัท ส. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยร่วมและโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินแล้วสร้างสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน โดยมีบริษัท ส. ร่วมลงทุนและเป็นผู้บริหารสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน ต่อมาจำเลยร่วมเสนอเงื่อนไขขอเป็นผู้บริหารโดยตกลงชำระเงินร่วมลงทุนแก่โจทก์ แต่จำเลยร่วมไม่อาจชำระเงินร่วมลงทุนได้ครบถ้วนจึงเสนอให้จำเลยเป็นผู้ร่วมลงทุนแทน ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือ จำเลยต้องเปิดบัญชีกับโจทก์และจัดตั้งเป็นนิติบุคคลรวมทั้งต้องชำระเงินร่วมลงทุนที่จำเลยร่วมค้างชำระจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่โจทก์เสียก่อน แต่จำเลยก็ไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ครบถ้วน ดังนั้น สัญญาร่วมลงทุนระหว่างโจทก์และจำเลยยังมิได้มีต่อกัน เพราะข้อความแห่งสัญญาอันโจทก์ได้แสดงไว้ว่าเป็นสาระสำคัญซึ่งจะต้องตกลงกันหมดทุกข้อนั้นยังมิได้ตกลงกันได้หมดทุกข้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 366 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงอยู่ในที่ดินและเข้าบริหารสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้จนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดิน
จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์เนื่องจากจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันแม้มีอยู่จริงตามข้ออ้าง ก็มิใช่เป็นผลโดยตรงและโดยใกล้ชิดจากการกระทำของโจทก์ หากเกิดจากการที่จำเลยยอมตนเข้าเสี่ยงภัยรับภาระแทนจำเลยร่วม โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยร่วมไม่มีสิทธิที่จะทำข้อตกลงให้จำเลยเข้าบริหารกิจการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันได้โดยลำพังตนเอง ดังนั้น หากมีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้น จำเลยก็ต้องว่ากล่าวเอาแก่จำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่สัญญาของตน หาใช่มาเรียกร้องเอาแก่โจทก์ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซของคาลเท็กซ์ เลขที่ 162 หมู่ที่ 3 ถนนเพชรเกษม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง และให้หยุดใช้สถานีบริการดังกล่าวและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ พร้อมทั้งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน 1,842,800 บาท และชำระค่าเสียหายอีกจำนวนเดือนละ 105,350 บาท แก่โจทก์ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันดังกล่าวเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ยินยอมให้จำเลยทั้งสองดำเนินกิจการในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันและส่งน้ำมันให้จำเลยที่ 1ต่อไป ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 2,351,789.30บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คิดจากต้นเงินจำนวน1,866,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะยอมส่งน้ำมันตามที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อ และยอมให้จำเลยทั้งสองดำเนินกิจการในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย หรือขอให้เรียกนายธนัตต์ ตันลือเกียรติ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกนายอนันต์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในที่ดินและสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซของคาลเท็กซ์ของโจทก์โดยละเมิด สัญญาเช่าดำเนินกิจการสถานีบริการดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าร่วมลงทุนจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ แต่ในส่วนทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากที่ดินและสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในที่ดินและสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของโจทก์โดยไม่มีสิทธิอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ต้องขาดกำไรจากการจำหน่ายน้ำมันรวม 8 เดือน จำนวน509,008 บาท และอีกจำนวนเดือนละ 63,626 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2ต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะออกจากสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของโจทก์ สำหรับค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ไม่มีหลักฐานว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ จำเลยร่วมมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 เฉพาะค่าเสียหายในส่วนที่จำเลยที่ 1 เข้าปรับปรุงสถานที่และน้ำใช้ในที่ดินกับสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของโจทก์เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายอื่นตามฟ้องแย้งโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2พร้อมบริวารออกจากสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซของคาลเท็กซ์ตามคำฟ้องและให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 509,008 บาท และจำนวนอีกเดือนละ63,626 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1และบริวารจะออกจากสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันดังกล่าว และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เสร็จสิ้น ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องแย้งและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 1
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…แม้พฤติการณ์ในการประวิงคดีจะสืบเนื่องมาจากการกระทำของทนายความ แต่จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับรู้ และหาทางแก้ไขในฐานะที่เป็นผู้แต่งตั้งทนายความให้กระทำการแทนตนเมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉยปล่อยให้ทนายความของตนที่ยืนยันว่าไม่อาจมาศาลได้ในวันนัดสืบพยานโจทก์ที่ศาลชั้นต้นนัดไว้ล่วงหน้าทั้งสามครั้งยังคงรับผิดชอบคดีของตนต่อไปอีก ถือได้ว่าเป็นการประวิงคดีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นประการต่อไปว่า โจทก์ไม่อาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซของคาลเท็กซ์เป็นเวลา 15 ปี กับมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามฟ้องแย้งด้วยนั้น ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 และมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลที่ดินที่ตั้งสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันดังกล่าว โดยเดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยร่วมจำเลยร่วมขายที่ดินนั้นให้บริษัทสตาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือของโจทก์ โจทก์เช่าที่ดินนั้นแล้วเข้าดำเนินการก่อสร้างสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน ต่อมาบริษัทดังกล่าวเข้าบริหารงานในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันนั้นโดยชำระเงินร่วมลงทุนให้โจทก์ จากนั้นจำเลยร่วมเข้าบริหารงานในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันดังกล่าวแทนและสัญญาจะชำระเงินร่วมลงทุนแก่โจทก์ แต่ไม่ชำระ ต่อมาจำเลยร่วมให้จำเลยที่ 1 ร่วมลงทุนด้วยและจะชำระเงินที่ค้างให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1กลับต้องการซื้อที่ดินนั้นคืน หากโจทก์ไม่ขาย ก็จะไม่ร่วมลงทุนด้วยอย่างไรก็ดี ต่อมาจำเลยที่ 1 ตกลงจะเข้าร่วมลงทุนด้วย โจทก์จึงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เข้าดำเนินกิจการในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ขอผัดผ่อนการชำระเงินร่วมลงทุนแต่โจทก์ไม่ยินยอมและแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของโจทก์แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย โจทก์จึงหยุดส่งน้ำมันให้จำเลยที่ 1ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามคำฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย ไม่อาจเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้งจากโจทก์ได้ส่วนจำเลยที่ 1นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลกิจการในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อที่ดินพร้อมสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันนั้นจากจำเลยร่วมโดยจำเลยร่วมแจ้งว่าได้ขายที่ดินดังกล่าวแก่บริษัทสตาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์เพื่อประกันหนี้ที่จำเลยร่วมมีต่อโจทก์ และโจทก์ตกลงให้จำเลยร่วมซื้อที่ดินและสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันนั้นคืนได้ภายใน 3 ปี ต่อมาโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินและสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันจากโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 ไม่ยอม โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ไม่ตกลงขายที่ดินและสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายน้ำมันของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม โจทก์ไม่ส่งน้ำมันให้จำเลยที่ 1เป็นต้นมาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายตามฟ้องแย้ง เห็นว่าจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานยอมรับว่า จำเลยร่วมได้โอนขายที่ดินที่ตั้งสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซของคาลเท็กซ์ให้บริษัทสตาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือของโจทก์ เพื่อค้ำประกันหนี้ที่จำเลยร่วมเป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวน 2,500,000 บาท แต่ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.12 ว่าจำเลยที่ 1 ก็ยังทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทำสัญญาซื้อขายธุรกิจน้ำมันกับจำเลยร่วมโดยจำเลยที่ 1 วางเงินมัดจำค่าที่ดินให้แก่จำเลยร่วม และปรากฏข้อเท็จจริงตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายยอมรับกันว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าบริหารกิจการในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันในนามของจำเลยที่ 2ทั้งที่จำเลยร่วมไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินและโอนการบริหารกิจการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันที่ตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ได้พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ที่ยืนยันว่า บริษัทสตาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยร่วม ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินและโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.19 และโจทก์เป็นผู้สร้างสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน โดยมีบริษัทสตาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมลงทุนและเป็นผู้บริหารสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน ต่อมาจำเลยร่วมเสนอเงื่อนไขขอเป็นผู้บริหารโดยตกลงชำระเงินร่วมลงทุนแก่โจทก์ แต่ในที่สุดจำเลยร่วมไม่อาจชำระเงินร่วมลงทุนได้ครบถ้วน จึงเสนอให้จำเลยที่ 1เป็นผู้ร่วมลงทุนแทน ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญ คือ จำเลยที่ 1 ต้องเปิดบัญชีกับโจทก์และจัดตั้งเป็นนิติบุคคลรวมทั้งต้องชำระเงินร่วมลงทุนที่จำเลยร่วมค้างชำระจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่โจทก์เสียก่อนแต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ครบถ้วน ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงปรากฏชัดแจ้งว่า สัญญาร่วมลงทุนระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังมิได้มีต่อกัน เพราะข้อความแห่งสัญญาอันโจทก์ได้แสดงไว้ว่าเป็นสาระสำคัญซึ่งจะต้องตกลงกันหมดทุกข้อนั้นยังมิได้ตกลงกันได้หมดทุกข้อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในที่ดินดังกล่าวและเข้าบริหารกิจการในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันในที่ดินนั้นโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้จนกว่าจำเลยที่ 1จะออกจากที่ดินที่ตั้งสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน ส่วนที่จำเลยที่ 1ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์อันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันที่ตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าวนั้น เห็นว่า ความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับแม้มีอยู่จริงตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ก็มิใช่เป็นผลโดยตรงและโดยใกล้ชิดจากการกระทำของโจทก์ หากเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ยอมตนเข้าเสี่ยงภัยรับภาระแทนจำเลยร่วม โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยร่วมไม่มีสิทธิที่จะทำข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 เข้าบริหารกิจการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันได้โดยลำพังตนเอง ดังนั้น หากมีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้น จำเลยที่ 1ก็ต้องว่ากล่าวเอาแก่จำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่สัญญาของตนหาใช่มาเรียกร้องเอาแก่โจทก์ไม่ เหตุนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1พร้อมให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน