แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ถนนที่จำเลยจอดรถมีสภาพมืดไม่มีแสงส่องสว่าง จำเลยไม่ได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้ายและโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์เพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ใช้ยานพาหนะเห็นรถที่จอดได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร อันเป็นองค์ประกอบของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2522) โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า รถบรรทุกสิบล้อคันที่จำเลยขับมีเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ของรถขัดข้อง ทั้งมิได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 56 แต่อย่างใด แต่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้แสดงเครื่องหมายตามลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 5 และ 56 วรรคสอง ข้อ 2 (1) ข้อ 3 และข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้ผู้ขับขี่รถบรรทุกนอกเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ต้องแสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณในกรณีที่จำเป็นต้องจอดรถอยู่ในทางเดินรถ เนื่องจากเครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์ของรถขัดข้อง โดยมีเครื่องหมายทำด้วยแผ่นโลหะรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ยาวไม่ต่ำกว่าด้านละ 50 เซนติเมตร ติดด้วยแถบสะท้อนแสงพื้นสีขาว ขอบสีแดง กว้าง 5 เซนติเมตร มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำกว้าง 8 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร หัวท้ายมน อยู่บนพื้นสีขาวในแนวดิ่งพร้อมขาตั้ง โดยให้ฐานของรูปสามเหลี่ยมขนานกับพื้นไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของรถห่างจากรถไม่ต่ำกว่า 50 เมตร และไม่ได้ให้สัญญาณเป็นไฟกระพริบสีเหลืองอำพันหรือสีขาวติดอยู่หน้ารถทั้งด้านซ้ายและด้านขวา และสัญญาณไฟกระพริบสีแดงหรือสีเหลืองอำพันติดอยู่ท้ายรถทั้งด้านซ้ายและด้านขวา รวมทั้งไม่ได้ตั้งวางกรวยสัญญาณจราจร กองกิ่งไม้หรือวัตถุอื่นใดไว้ด้านท้ายรถของจำเลย อันเป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และศาลชั้นต้นก็ยังมิได้วินิจฉัยเลยว่า จำเลยไม่ได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้าย และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์ไว้ อันเป็นองค์ประกอบของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2522) ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะปรับบทลงโทษจำเลย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 151 ตรงตามคำขอของโจทก์ แต่ก็เป็นการมิชอบเช่นกันเพราะเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้แสดงเหตุผลในการตัดสินในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและปรับเข้าข้อกฎหมาย ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6)
เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายอุทธรณ์ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังว่า รถบรรทุกสิบล้อของจำเลยได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้าย และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์ไว้ และพิพากษายกฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 151 ด้วย ดังนี้ โจทก์จะฎีกาว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า จำเลยจอดรถในบริเวณที่เกิดเหตุโดยไม่ได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้าย และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์ จำเลยจึงกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 151 หาได้ไม่ เพราะถือว่ามิใช่ข้อที่โจทก์ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง, 148 วรรคหนึ่ง กรณีที่ผู้ขับขี่ต้องจอดรถทางด้านซ้ายของทางเดินรถ และจอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับขอบทางหรือไหล่ทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตรนั้น โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานนี้ว่า จำเลยจอดรถในช่องเดินรถในลักษณะกีดขวางการจราจรโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ปรากฏจากภาพถ่ายว่า รถบรรทุกสิบล้อของจำเลยจอดอยู่ในลักษณะเกือบชิดเส้นทึบริมขอบทางด้านซ้าย ซึ่งสอดคล้องกับที่ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจตรี ป. พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า รถบรรทุกสิบล้อของจำเลยจอดค่อนข้างชิดไปทางซ้าย และเชื่อได้ว่าในช่องเดินรถทางด้านขวาของตัวรถยังมีพื้นที่ว่างอยู่พอสมควร จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยจอดรถบรรทุกสิบล้อในช่องเดินรถในลักษณะกีดขวางการจราจรโดยไม่จอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับขอบทางหรือไหล่ทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 54, 61, 148, 151
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางวิไล มารดาของนายวิรัตน์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 61, 148 วรรคหนึ่ง, 151 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยจอดรถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 70 – 8207 ระยอง ซึ่งบรรทุกข้าวสาร ต่อท้ายรถบรรทุกกึ่งพ่วงยี่สิบสองล้อ หมายเลขทะเบียน 71 – 0304 สระบุรี ลากจูงรถคันหมายเลขทะเบียน 71 – 0305 สระบุรี ซึ่งบรรทุกไม้แปรรูป โดยมีนายจำเรือง เป็นคนขับ ในช่องเดินรถที่ขยายออกไปเพื่อใช้เป็นที่กลับรถยนต์ขนาดใหญ่ โดยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถทางหลัก ต่อมาผู้ตายขับรถบรรทุกกึ่งพ่วงยี่สิบสองล้อ หมายเลขทะเบียน 70 – 5645 ขอนแก่น ลากจูงคันหมายเลขทะเบียน 70 – 5646 ขอนแก่น บรรทุกไม้ยูคาลิปตัส และมีผู้เสียหายโดยสารมาด้วย เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุรถบรรทุกกึ่งพ่วงยี่สิบสองล้อของผู้ตายเสียหลักแล่นเฉี่ยวชนรถบรรทุกสิบล้อของจำเลยบริเวณล้อหลังด้านขวา แล้วเลยไปชนท้ายรถบรรทุกกึ่งพ่วงยี่สิบสองล้อของนายจำเรือง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามสำเนารายการชันสูตรพลิกศพ และผู้เสียหายกระดูกต้นขาซ้ายหัก ได้รับอันตรายสาหัสตามสำเนาผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือไม่นั้น เห็นว่า สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 151 โจทก์บรรยายฟ้องว่า ถนนที่จำเลยจอดรถมีสภาพมืดไม่มีแสงส่องสว่าง จำเลยไม่ได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้ายและโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์เพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ใช้ยานพาหนะเห็นรถที่จอดได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร อันเป็นองค์ประกอบของพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2522) โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า รถบรรทุกสิบล้อคันที่จำเลยขับมีเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ของรถขัดข้อง ทั้งมิได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 56 แต่อย่างใด แต่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้แสดงเครื่องหมายตามลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 5 และ 56 วรรคสอง ข้อ 2 (1) ข้อ 3 และข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้ผู้ขับขี่รถบรรทุกนอกเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ต้องแสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณในกรณีที่จำเป็นต้องจอดรถอยู่ในทางเดินรถ เนื่องจากเครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์ของรถขัดข้อง โดยมีเครื่องหมายทำด้วยแผ่นโลหะรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ยาวไม่ต่ำกว่าด้านละ 50 เซนติเมตร ติดด้วยแถบสะท้อนแสงพื้นสีขาว ขอบสีแดง กว้าง 5 เซนติเมตร มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำกว้าง 8 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร หัวท้ายมน อยู่บนพื้นสีขาวในแนวดิ่งพร้อมขาตั้ง โดยให้ฐานของรูปสามเหลี่ยมขนานกับพื้นไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของรถห่างจากรถไม่ต่ำกว่า 50 เมตร และไม่ได้ให้สัญญาณเป็นไฟกระพริบสีเหลืองอำพันหรือสีขาวติดอยู่หน้ารถทั้งด้านซ้ายและด้านขวา และสัญญาณไฟกระพริบสีแดงหรือสีเหลืองอำพันติดอยู่ท้ายรถทั้งด้านซ้ายและด้านขวา รวมทั้งไม่ได้ตั้งวางกรวยสัญญาณจราจร กองกิ่งไม้หรือวัตถุอื่นใดไว้ด้านท้ายรถของจำเลย อันเป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และศาลชั้นต้นก็ยังมิได้วินิจฉัยเลยว่า จำเลยไม่ได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้าย และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์ไว้ อันเป็นองค์ประกอบของพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2522) ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะปรับบทลงโทษจำเลย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 151 ตรงตามคำขอของโจทก์ แต่ก็เป็นการมิชอบเช่นกันเพราะเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้แสดงเหตุผลในการตัดสินในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและปรับเข้าข้อกฎหมาย ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในเรื่องดังกล่าว แต่โจทก์ก็ไม่ได้อุทธรณ์ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่จำเป็นที่จะต้องอุทธรณ์ในเรื่องนี้เพราะศาลชั้นต้นยังคงลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายอุทธรณ์ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังว่า รถบรรทุกสิบล้อของจำเลยได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้าย และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์ไว้ และพิพากษายกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 151 ด้วย ดังนี้ โจทก์จะฎีกาว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า จำเลยจอดรถในบริเวณที่เกิดเหตุโดยไม่ได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้าย และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์ จำเลยจึงกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 151 หาได้ไม่ เพราะถือว่ามิใช่ข้อที่โจทก์ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง, 148 วรรคหนึ่ง กรณีที่ผู้ขับขี่ต้องจอดรถทางด้านซ้ายของทางเดินรถ และจอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับขอบทางหรือไหล่ทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตรนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานนี้ว่า จำเลยจอดรถในช่องเดินรถในลักษณะกีดขวางการจราจรโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ปรากฏจากภาพถ่าย ภาพที่ 7 และ 9 ว่า รถบรรทุกสิบล้อของจำเลยจอดอยู่ในลักษณะเกือบชิดเส้นทึบริมขอบทางด้านซ้าย ซึ่งสอดคล้องกับที่ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีประชุม พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า รถบรรทุกสิบล้อของจำเลยจอดค่อนข้างชิดไปทางซ้าย และเชื่อได้ว่าในช่องเดินรถทางด้านขวาของตัวรถยังมีพื้นที่ว่างอยู่พอสมควรดังที่วินิจฉัยไปแล้วข้างต้น จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยจอดรถบรรทุกสิบล้อในช่องเดินรถในลักษณะกีดขวางการจราจรโดยไม่จอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับขอบทางหรือไหล่ทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ด้วยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน