คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีทั้งสองเรื่องโจทก์อ้างสิทธิอย่างเดียวกันว่าที่ดินโจทก์มีสิทธิภารจำยอมเหนือที่ดินพิพาทที่จำเลยโอนให้ พ. และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ยอมให้ที่ดินพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว การที่โจทก์กลับมาฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้ขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 28416, 28417, 28418, 28419 และ 917 พร้อมตึกแถวเลขที่ 2, 2/1, 2/2 และ 2/3 จำเลยเคยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7225 เนื้อที่ 183 ตารางวา ต่อมาจำเลยได้แบ่งแยกโฉนดออกเป็นแปลง ๆ เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ขายให้บุคคลทั่วไป โดยแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 28416 ถึง 28422, 30897และ 7225 ตามลำดับ เมื่อปี 2531 จำเลยและนายไพบูลย์ตั้งพงศ์ไพบูลย์ สามีจำเลยได้เข้าเป็นหุ้นส่วนกันเพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น จำนวน 6 คูหา บนที่ดินดังกล่าวเพื่อขายให้บุคคลทั่วไป โดยชี้ชวนว่าอาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีสาธารณูปโภคครบถ้วน มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ มีที่ว่างด้านหน้าอาคารสามารถใช้ประโยชน์ได้ และผู้ขายจะจดทะเบียนภารจำยอมพื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารให้ผู้ซื้อเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2532โจทก์ซื้อตึกแถวเลขที่ 2 และ 2/1 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 28416และ 28417 จากนายไพบูลย์และจำเลย นายไพบูลย์ได้ติดตั้งหลังคาบริเวณที่ว่างหน้าตึกแถวเพื่อให้โจทก์ใช้ประโยชน์เป็นที่จอดรถและที่นั่งพักสำหรับคนงานของโจทก์ตลอดมาโจทก์ติดต่อให้นายไพบูลย์กับจำเลยจดทะเบียนภารจำยอมที่ว่างดังกล่าว แต่จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2532นายไพบูลย์ถึงแก่ความตาย นางมณี ตั้งพงศ์ไพบูลย์ภรรยาชอบด้วยกฎหมายของนายไพบูลย์รับโอนตึกแถวเลขที่ 2/2และ 2/3 กับซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 28418 และ 28419 จากจำเลยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2533 โดยมีข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายว่าจำเลยจะจดทะเบียนภารจำยอมให้ผู้ซื้อมีสิทธิใช้ทางเข้าออกจอดรถบนที่ดินแปลงที่เหลือซึ่งเป็นที่ว่างได้ และให้ถือว่าสัญญานี้มีผลผูกพันทายาทและหรือผู้สืบสิทธิของทั้งสองฝ่ายด้วยต่อมาโจทก์ซื้อตึกแถว 2 คูหาดังกล่าวจากนางมณี โจทก์จึงมีสิทธิในฐานะผู้ซื้อตึกแถวจากนายไพบูลย์และมีสิทธิในฐานะผู้สืบสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่ 27 เมษายน 2533 โจทก์ติดต่อให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 28422, 30897และ 7225 ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างหน้าตึกแถว แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงหลังจากนั้นวันที่ 19 ตุลาคม 2535 จำเลยแบ่งแยกที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ 30897 แต่ยังคงเป็นที่ดินด้านหน้าตึกแถวของโจทก์2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 28422 และ 30897 จำเลยได้เสนอขายที่ดินทั้งสองแปลงให้โจทก์ โจทก์เห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภารจำยอมที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามสัญญาอยู่แล้วจึงไม่ซื้อจำเลยไม่พอใจโจทก์จึงสมคบกับนางพัชรี พังคะวิบูลย์โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28422, 30897 และ 7225ให้นางพัชรีโดยไม่สุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์และให้นางพัชรีรบกวนการใช้สิทธิในที่ดินด้านหน้าตึกแถวโจทก์โดยนำอิฐ หิน ปูน ทราย และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเข้ามาวางไว้ในที่ดินเพื่อไม่ให้โจทก์ใช้ประโยชน์ กับแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ข้อหาบุกรุกทำให้ที่ดินและตึกแถวของโจทก์ไม่มีทางเข้าออก ไม่มีพื้นที่ว่างด้านหน้าตึกแถวไม่สามารถใช้ตึกแถวประกอบธุรกิจ และราคาที่ดินและตึกแถวลดต่ำลงคิดเป็นค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 4,000,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 4085/2538 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเอกสารหมาย ล.26 โจทก์ฟ้องนางพัชรี พังคะวิบูลย์ เป็นจำเลยที่ 1และจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 28416 เลขที่ 28417 เลขที่ 28418 เลขที่ 28419และเลขที่ 917 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 2, 2/1, 2/2 และ 2/3ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวตามลำดับ เดิมจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 28422 เลขที่ 30897 และเลขที่ 7225 ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ว่างอยู่ด้านหน้าที่ดินโจทก์ดังกล่าว โดยจำเลยตกลงยอมให้โจทก์และบุคคลที่ซื้อตึกแถวจากจำเลยใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถกลับรถและใช้ประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งจะจดทะเบียนภารจำยอมให้ ต่อมาจำเลยบ่ายเบี่ยงและขายที่ดินดังกล่าวให้นางพัชรีโดยฉ้อฉลและไม่สุจริตเพื่อหลบเลี่ยงไม่จดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างนางพัชรีกับจำเลย และให้นางพัชรีกับจำเลยจดทะเบียนภารจำยอมที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวเป็นภารจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 28416, เลขที่ 28417, เลขที่ 28418และเลขที่ 28419 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและห้ามมิให้รบกวนการใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทสำหรับในคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างเหตุเช่นเดียวกันว่า โจทก์มีสิทธิใช้ที่ดินภารจำยอมดังกล่าว แต่ไม่ได้ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างนางพัชรีกับจำเลยและมิได้ขอให้จดทะเบียนภารจำยอมแก่โจทก์ โดยอ้างเพิ่มเติมเข้ามาว่าจำเลยให้นางพัชรีรบกวนการใช้สิทธิในที่ดินภารจำยอมโดยนำอิฐ หิน ปูน ทราย และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเข้ามาวาง ทำให้โจทก์ไม่มีทางเข้าออกไม่มีพื้นที่ว่างด้านหน้าตึกแถว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า คดีทั้งสองเรื่องนี้โจทก์อ้างสิทธิอย่างเดียวกันว่า ที่ดินโจทก์มีสิทธิภารจำยอมเหนือที่ดินพิพาทที่จำเลยโอนให้นางพัชรี โดยในคดีก่อนโจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนและจดทะเบียนภารจำยอม แต่ในคดีนี้โจทก์เรียกค่าเสียหายซึ่งค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ยอมให้ที่ดินพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์นั่นเอง เมื่อค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว แต่โจทก์ไม่เรียกกลับมาฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้ ขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246
พิพากษายืน

Share