แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้คืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์ไม่ถูกต้อง เพราะว่าไม่มีการหมั้น อีกทั้งไม่มีเหตุที่ต้องคืนสินสอดให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้ผิดสัญญาและไม่ต้องคืนของหมั้นและสินสอดเป็นเงินรวม 41,250 บาท แก่โจทก์เป็นการ โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่ามีการหมั้น และ จำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นต้องคืนของหมั้นและสินสอด แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท อีกทั้งมิได้เป็นคดีที่ เกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามจึงต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 3เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2535 โจทก์กับจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาหมั้นและตกลงจะสมรสกัน จำเลยทั้งสามเรียกเงินสินสอด 50,000 บาทและของหมั้นเป็นแหวนทองคำหนัก 1 สลึง จากโจทก์ โจทก์มอบของหมั้นและเงินสินสอด 20,000 บาท แก่จำเลยทั้งสามในวันหมั้นส่วนที่เหลืออีก 30,000 บาท จะจ่ายให้ในวันทำพิธีสมรสในวันที่ 3 มกราคม 2536 โจทก์ทำพิธีสมรสตามประเพณีกับจำเลยที่ 3 และมอบเงินสินสอดส่วนที่เหลืออีก 30,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน โจทก์ชวนจำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมไปอ้างว่ายังไม่พร้อมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2536จำเลยที่ 3 เก็บเสื้อผ้าหนีออกไปจากบ้านโจทก์ ไม่ยอมกลับไปอยู่กินกับโจทก์อีก ฝ่ายโจทก์ได้ปรึกษากับจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ยอมรับผิดชอบในการกระทำของจำเลยที่ 3การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการผิดสัญญาหมั้น ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินสินสอด 50,000 บาท ของหมั้นแหวนทองคำหนัก 1 สลึง ราคา 1,250 บาท และทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเหยียดหยามเป็นที่ดูแคลนของชาวบ้านทั่วไปคิดค่าเสียหายส่วนนี้ 10,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 61,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 61,250 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ผิดสัญญาหมั้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คืนเงินสินสอด40,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะคืนเงินเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 คืนแหวนทองคำหนัก 1 สลึง ของหมั้นแก่โจทก์ หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามโดยไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเพราะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามนั้นเป็นการชอบหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้คืนของหมั้นและสินสอดที่พิพาทแก่โจทก์ไม่ถูกต้องเพราะว่าไม่มีการหมั้น อีกทั้งไม่มีเหตุที่ต้องคืนสินสอดให้แก่โจทก์ตามกฎหมายจำเลยทั้งสามจึงไม่ได้ผิดสัญญาและไม่ต้องคืนของหมั้นและสินสอดเป็นเงินรวม 41,250 บาท แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่ามีการหมั้นและจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท อีกทั้งมิได้เป็นคดีที่เกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวอันจะทำให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน