คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้จาก ฉ.โดยทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้แล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนได้นั้นจะต้องเป็นข้อต่อสู้ที่ลูกหนี้มีต่อผู้โอน หาใช่ข้อต่อสู้ระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนไม่ ดังนั้น กรณีที่ผู้โอนจะเป็นหนี้ผู้รับโอนหรือไม่ จึงเป็นเรื่องระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนมิใช่ระหว่างผู้โอนกับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ จำเลยจึงหามีสิทธิยกเอาข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนได้ไม่การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ฉ. กับโจทก์จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2529 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินนางเฉลียว เชื้อแถว จำนวน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และกำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2529 จำเลยผิดสัญญา นางเฉลียว เชื้อแถวทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2530นางเฉลียว เชื้อแถว จึงได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว จำเลยเพิกเฉยขอให้จำเลยใช้เงิน 50,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปีนับแต่วันทำสัญญาถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 12,500 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนางเฉลียว เชื้อแถว กับโจทก์เกิดขึ้นโดยทุจริต หลอกลวงและไม่มีกฎหมายให้ทำได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 50,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2529จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยได้ลงลายมือชื่อและเขียนจำนวนเงินในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าจำเลยได้รับเงินตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ โจทก์มีนางเฉลียว เชื้อแถว ผู้ให้กู้เป็นพยานเบิกความว่า เดิมเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2526 จำเลยได้มาขอกู้ยืมเงินจากพยานจำนวน 50,000 บาท ตกลงใช้คืนภายใน 1 เดือนพยานให้จำเลยยืม แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาไว้ เมื่อครบกำหนดจำเลยก็ไม่คืนเงินให้ พยานทวงถามจำเลยก็ไม่คืน พยานเห็นว่าจำเลยเป็นผู้บังคับบัญชาจึงมีความเกรงใจ จนกระทั่งวันที่ 3 มิถุนายน 2529 พยานจึงให้จำเลยทำสัญญากู้ตามเอกสารหมายจ.1 ไว้ให้ สำหรับจำเลยหาได้นำสืบหักล้างว่าไม่ได้รับเงินในครั้งเริ่มกู้ยืมเงินนางเฉลียว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2526แต่อย่างใด เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในการเริ่มกู้ยืมเงินจะไม่มีการทำสัญญากู้ยืมกันไว้เป็นหลักฐานก็ตาม แต่ต่อมาภายหลังได้มีการทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวขึ้นย่อมถือได้ว่าคู่กรณีมีเจตนาที่จะให้หลักฐานการกู้ยืมซึ่งทำขึ้นในภายหลังมีผลผูกพันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่ไม่ได้ทำกันไว้ในตอนแรกนั่นเองจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินตามสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องแล้วข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า เหตุที่ลงลายมือชื่อและเขียนจำนวนเงินในสัญญาเนื่องจากนางเฉลียวขอร้อง เพื่อนำไปอ้างกับสามีว่าเงินที่หายไปเพราะตนเอาไปให้จำเลยกู้ยืม ซึ่งจำเลยคงนำสืบลอย ๆปากเดียว โดยไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุน เฉพาะอย่างยิ่งบุคคลในฐานะเช่นจำเลย และเป็นผู้บังคับบัญชาของนางเฉลียวย่อมรู้ดีว่าการทำหลักฐานการกู้ยืมเงินให้ผู้อื่นนั้น มีผลผูกพันให้ต้องรับผิดเพียงใด ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยได้ยืมเงินนางเฉลียวตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนางเฉลียวกับโจทก์ไม่ชอบ เพราะนางเฉลียวไม่มีมูลหนี้กับโจทก์นั้น เห็นว่าการโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นหนี้อันพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น เมื่อได้มีการทำเป็นหนังสือย่อมสมบูรณ์และเมื่อได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้แล้ว ย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ซึ่งโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้จากนางเฉลียวตามหนังสือการโอนสิทธิเรียกร้อง เอกสารหมาย จ.2 และได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้แล้วตามเอกสารหมาย จ.3 จ.4 การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนได้นั้นจะต้องเป็นข้อต่อสู้ที่ลูกหนี้มีต่อผู้โอน หาใช่ข้อต่อสู้ระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนไม่ดังนั้น กรณีที่ผู้โอนจะเป็นหนี้ผู้รับโอนหรือไม่ จึงเป็นเรื่องระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน มิใช่กรณีระหว่างผู้โอนกับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ จำเลยจึงหามีสิทธิยกเอาข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนได้ไม่ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนางเฉลียวกับโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share