แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การส่งหมายเรียกหรือหนังสืออื่น ซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะ2 แห่งประมวลรัษฎากร หากได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 8 วรรคหนึ่งและวรรคสอง กฎหมายให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้วโดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้รับหมายเรียกหรือหนังสืออื่นนั้นจะได้รับทราบหมายเรียกหรือหนังสืออื่นนั้นแล้วหรือไม่ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าไม่อาจรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาได้ เนื่องจากมาตรา 21, 25 และ 87(3)แห่งประมวลรัษฎากรห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน ซึ่งโจทก์เห็นว่ายังไม่ถูกต้องเพราะกรณีตามมาตรา 21, 25 และ 87(3) แห่งประมวลรัษฎากรที่ห้ามมิให้อุทธรณ์นั้น หมายถึงว่าโจทก์ต้องได้รับทราบหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินแล้ว โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน แต่กรณีของโจทก์นั้นโจทก์ไม่เคยรับทราบหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว… ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร วินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในชั้นนี้เพียงว่าการส่งหมายเรียกให้โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมา และโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้เถียงฟังได้เป็นยุติว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกส่งไปให้โจทก์ณ บ้านเลขที่ 92 หมู่ที่ 10 ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ดจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นบ้านที่โจทก์มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 15, 30 และ 81 และความข้อนี้โจทก์ก็ยอมรับในคำฟ้องรวมทั้งในอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้ย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดจริง และตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 69-73 ก็ปรากฏว่า เจ้าพนักงานสรรพากรเป็นผู้นำหมายเรียกไปส่งให้แก่โจทก์ แต่ไม่พบตัวโจทก์และบุคคลในบ้านไม่ยอมรับหมายเรียกไว้แทนเจ้าพนักงานสรรพากรจึงส่งโดยวิธีปิดหมายดังนี้ เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานสรรพากรนำหมายเรียกไปส่งให้โจทก์แล้วไม่พบโจทก์และบุคคลในบ้านไม่ยอมรับหมายเรียกเช่นนี้เป็นกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8วรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานสรรพากรจึงชอบที่จะส่งโดยวิธีปิดหมายตามมาตรา 8 วรรคสองได้ เมื่อปรากฏว่า การส่งหมายเรียกให้โจทก์เจ้าพนักงานสรรพากรได้ส่งโดยวิธีปิดหมายไว้ที่บ้านที่โจทก์มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรครั้งสุดท้าย ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับหมายเรียกนั้นแล้ว ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม การส่งหมายเรียกให้โจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่จังหวัดร้อยเอ็ดเพียงเพื่อจะได้มีสิทธิสมัครเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดเท่านั้น โจทก์มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด การส่งหมายเรียกให้โจทก์โดยวิธีปิดหมายที่จังหวัดร้อยเอ็ดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การส่งหมายเรียกโดยวิธีปิดหมายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง กฎหมายเพียงแต่บัญญัติให้ปิดหมายไว้ ณ บ้านที่บุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรครั้งสุดท้ายก็เป็นอันใช้ได้ กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของบุคคลนั้น เหมือนเช่นกรณีการส่งหมายตามมาตรา 8 วรรคแรกแต่อย่างใด และที่โจทก์อ้างว่าผู้ที่อยู่ในบ้านที่โจทก์มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ด ไม่ได้แจ้งหรือส่งหมายเรียกมาให้โจทก์ทราบที่กรุงเทพมหานคร จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับทราบการส่งหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อการส่งหมายเรียกให้โจทก์โดยวิธีปิดหมายได้กระทำโดยถูกต้องตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นอันได้รับหมายเรียกนั้นแล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดแจ้งหรือส่งหมายเรียกนั้นมาให้โจทก์ทราบก็ตาม ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า กรณีที่จะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 21, 25 และ 87(3) จะต้องเป็นเรื่องที่ผู้รับหมายไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่ง ซึ่งหมายความว่าเป็นกรณีที่ผู้ได้รับหมายได้รับทราบหมายหรือคำสั่งแล้วเท่านั้นจึงจะปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งได้ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับทราบหมายเรียก โจทก์ย่อมไม่อาจปฏิบัติตามหมายเรียกได้ กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์นั้น เห็นว่า ตามบทกฎหมายที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นไม่มีบทมาตราใดที่บัญญัติว่า กรณีที่จะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์จะต้องเป็นเรื่องที่ผู้ได้รับหมายเรียกได้รับทราบหมายเรียกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 25 ก็ใช้ถ้อยคำเพียงว่า “ผู้ที่ได้รับหมาย…” เท่านั้น หาได้ใช้คำว่า “ผู้ที่ได้รับทราบหมาย” ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ซึ่งก็รับกับถ้อยคำตามมาตรา 8 วรรคสามที่บัญญัติว่า “เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวข้างต้น ให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้ว” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นที่เห็นได้ว่าการส่งหมายเรียกหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร หากได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 8วรรคหนึ่ง และวรรคสอง กฎหมายก็ให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้รับหมายเรียกหรือหนังสืออื่นนั้นจะได้รับทราบหมายเรียกหรือหนังสืออื่นนั้นแล้วหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับหมายเรียกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน