คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410-4411/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ เช็คพิพาท 2 ฉบับที่จำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้รายเดียวกัน โดยลงวันที่เดียวกัน และธนาคารปฏิเสธการ จ่ายเงินทั้งสองฉบับในวันเดียวกัน แต่การออกเช็คเป็นการสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามจำนวนในเช็ค ณ วันที่ที่ลงในเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีเจตนาให้จ่ายเงิน ตามเช็ค แต่ละ ฉบับแยกจากกันเป็นคนละส่วนคนละ จำนวน ไม่ได้ ร่วมเป็นเช็คฉบับเดียวกัน ความผิดเกิดขึ้นต่างหากแยกจากกันได้ โดยชัดเจนเป็นการ เฉพาะตัว ของ เช็ค แต่ละ ฉบับจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน เป็นคนละกระทงความผิดแยกจากกัน การที่ศาลจะสั่งให้หักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษ จำคุกตามคำพิพากษา หรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก ทั้งมิใช่กรณีที่หาก โจทก์ไม่มีคำขอ ขึ้น มา ศาล ก็ วินิจฉัย ให้ไม่ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้น ระบุ ในคำพิพากษา โดยชัดแจ้งว่า หัก วันที่ จำเลย ถูก คุมขัง ให้ เฉพาะ วัน ถูกคุมขังที่ไม่ซ้ำซ้อนนั้นจึงชอบแล้ว ที่ จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่าจำเลย ออกเช็คให้ผู้เสียหายเพื่อ ชำระหนี้เป็นการ บรรยายฟ้อง ไม่ครบ องค์ประกอบ ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่ง เป็น กฎหมายที่ออกใช้บังคับภายหลังอันเป็นคุณแก่จำเลย จึงลงโทษ จำเลยไม่ได้นั้น เป็นข้อที่ จำเลย มิได้ ยกขึ้น ว่ากันมาแล้ว ใน ศาลอุทธรณ์ จำเลยเพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกาจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบกับมาตรา 225 และ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่ศาลฎีกา เห็นสมควร ไม่รับ วินิจฉัย ให้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนมีใจความว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ สำนวนแรก 2 ฉบับ จำนวนเงิน810,000 บาท และจำนวนเงิน 40,500 บาท เช็คทั้งสองฉบับลงวันที่เดียวกันคือวันที่ 15 สิงหาคม 2533 และสำนวนหลัง 1 ฉบับ สั่งจ่ายเงินจำนวน 81,000 บาท ลงวันที่ 21 กันยายน 2533 มอบให้แก่นางสาวพ้องจิตต์ วณิเกียรติ ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระเงินผู้เสียหายนำเช็คแต่ละฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารทหารไทยสำนักงานใหญ่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับโดยแจ้งว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ทั้งนี้จำเลยออกเช็คดังกล่าวโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คฯ จำเลยเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาของศาลชั้นต้นอีก 13 สำนวน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษต่อจากคดีดังกล่าว
ระหว่างพิจารณานางสาวพ้องจิตต์ วณิเกียรติ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพทั้งสองสำนวนภายหลังที่สืบพยานโจทก์ไปบางส่วน และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้วางโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และมาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษตามเช็คฉบับหมาย จ.1 จำคุก 7 เดือนตามเช็คฉบับหมาย จ.3 จำคุก 2 เดือน และตามเช็คฉบับหมาย จ.5 จำคุก3 เดือนรวม 3 กระทง จำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 8 เดือน ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงอีก 12 คดี สำหรับคดีที่ยังมิได้มีคำพิพากษานับโทษต่อให้ไม่ได้ หักวันที่จำเลยถูกคุมขังให้เฉพาะวันถูกคุมขังที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การออกเช็คเป็นการสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามจำนวนในเช็ค ณ วันที่ที่ลงในเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีเจตนาให้จ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับแยกจากกันเป็นคนละส่วนคนละจำนวนไม่ได้ร่วมเป็นเช็คฉบับเดียวกัน ความผิดเกิดขึ้นต่างหากแยกจากกันได้ชัดเจนเป็นการเฉพาะตัวของเช็คแต่ละฉบับ เมื่อธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น ๆ แล้ว ดังนั้นการที่จำเลยออกเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้รายเดียวกันแม้ได้ลงวันที่สั่งจ่ายวันเดียวกัน ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินวันเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นคนละกระทงความผิดแยกจากกัน ซึ่งศาลต้องลงโทษจำเลยเรียงเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ปัญหาว่า โจทก์ไม่ได้มีคำขอให้หักวันคุมขังให้จำเลยเฉพาะวันถูกคุมขังที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังเฉพาะวันที่ถูกคุมขังไม่ซ้ำซ้อนเป็นการพิพากษาเกินคำขอ จึงต้องหักวันคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากกำหนดโทษจำคุกให้จำเลยทักคดีแม้ว่าเป็นการนับวันคุมขังซ้ำซ้อนกันหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลจะสั่งให้หักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 22 วรรคแรก ทั้งมิใช่กรณีที่หากโจทก์ไม่มีคำขอขึ้นศาลก็วินิจฉัยให้ไม่ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นระบุในคำพิพากษาโดยชัดแจ้งว่าหักวันที่จำเลยถูกคุมขังให้เฉพาะวันถูกคุมขังที่ไม่ซ้ำซ้อน และศาลอุทธรณ์เห็นด้วยเป็นดุลพินิจที่ชอบแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ว่า จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกใช้บังคับภายหลังอันเป็นคุณแก่จำเลยจึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้นเห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ จำเลยเพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกาจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195ประกอบกับมาตรา 225 และแม้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรรับวินิจฉัยให้ พิพากษายืน

Share