คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางเดิน คู่ความท้ากันว่าให้ศาลไปตรวจดูที่พิพาทถ้าเห็นว่าที่พิพาทมีลักษณะและสภาพเป็นทางเดินมาก่อนหรือไม่ ? ถ้าเป็นจำเลยยอมแพ้ ถ้าไม่เป็น โจทก์ยอมแพ้
เมื่อศาลไปตรวจและบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า “แนวทางเดินเท้าจากต้นมะลุมหมายอักษร ล.ในแผนที่กลางก็มาจบกับปลายทางเกวียน หมายอักษร ข.” เพียงเท่านี้ไม่ชัดเจนพอจะเข้าใจได้ว่ามีลักษณะและสภาพเป็นทางคนเดินมาแต่ก่อนตรงกับที่คู่ความท้ากันไว้หรือไม่ ข.ฉนั้นการที่ศาลยกเอาเหตุอื่น ๆ (นอกจากเหตุที่ท้ากันไว้)มาวินิจฉัยประกอบ(บันทึกที่ไม่ชัดนั้น) เพื่อให้เห็นว่าคนซึ่งอยู่ในที่ดินของโจทก์ย่อมต้องใช้ทางนี้เป็นทางเข้าออกมาแต่เดิมด้วยแล้วบังคับให้จำเลยเปิดทางคนเดินนั้น เป็นเรื่องนอกคำท้าของคู่ความ เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีที่ดินแปลงหนึ่ง โจทก์ได้ใช้เดินทางเข้าออกในที่บ้านของจำเลยซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านตะวันตกมาประมาณ ๑๖ ปีแล้ว โดยไม่มีทางใดที่จะออกได้ จำเลยได้ปิดทางเดินนี้เสีย ขอให้จำเลยเปิดทางเดินให้โจทก์ใช้เป็นทางเดินต่อไป
จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้ปิดทางเดินในที่ดินของจำเลยดั่งโจทก์ฟ้อง ทางเดินเข้าออกเวลานั้นมี ๒ ทาง ซึ่งโจทก์เคยเดินเข้าออกได้สดวก โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะขอเปิดทางเดินขึ้นในที่ดินของจำเลยได้
เมื่อเจ้าหนักงานทำแผนที่กลางครั้งที่สองแล้ว ก่อนสืบพยานคู่ความขอให้ศาลไปตรวจดูที่พิพาท ตามเส้นทางเกวียน ก.ข.และทางคนเดินจาก ช.ไปยังต้นมะลุมตามแผนที่กลางซึ่ง เจ้าพนักงานทำครั้งที่สองว่าจะมีลักษณะและสภาพเป็นทางเดินมาก่อนหรือไม่ ถ้าเป็นทางมาก่อนจำเลยจะยอมเปิดทางให้ ถ้าไม่ใช่โจทก์ยอมแพ้ไป
ศาลชั้นต้นได้ไปตรวจที่พิพาทแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ที่ขอให้จำเลยเปิดทางเกวียนหมาย ก.ข.ในแผนที่กลาง แต่ให้จำเลยเปิดทางคนเดินตามแนวต้นมะลุมหมายอักษร ล. ไปที่ปลายเส้นทางหมายอักษร ข.
จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์คัดค้านว่าเมื่อศาลจดรายงานการตรวจดูทางสำหรับร่องรอยทางเดินและทางเกวียนตรงหมายอักษร ก.และหมายเลข ๑ มายังหมายอักษร ข. และค. เฉพาะร่องรอยต่างลบเลือนไม่ปรากฎชัดทั้งสองแห่งก็ต้องยกฟ้องโจทก์ไปทั้งหมดตามคำท้าของคู่ความ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นตรวจดูทางตามที่คู่ความท้าแพ้ชนะกันแล้วจดรายงานพิจารณาสำหรับร่องรอยของทางไว้ดังนี้ “สำหรับร่องรอยทางเดินและทางเกวียนตรงหมายอักษร ก. และหมายเลข ๑ มายังหมายอักษร ข. และ ค. นั้น เฉพาะร่องรอยต่างลบเลือนไม่ปรากฎชัดทั้งสองแห่ง ” ซึ่งหาได้ตรงกับที่คู่ความท้ากันไว้ไม่ คือให้ดูร่องรอยของทางเดินจากหมาย ข.ไปยังต้นมะลุมหมาย ค. ว่ามีลักษณะและสภาพเป็นทางเดินมาก่อนหรือไม่นั้น มิได้ปรากฎในรายงานการตรวจที่นั้นเลย และที่ศาลชั้นต้นเอาเหตุอื่นนอกไปจากคำท้าของคู่ความมาเป็นเหตุพิพากษาให้จำเลยเปิดทางคนเดินแนวต้นมะลุมหมายอักษร ล. ไปที่ปลายเส้นทางหมายอักษร ข. ก็ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะให้จำเลยเปิดทางเดินดังกล่าวนี้เสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไปที่คู่ความตั้งประเด็นท้ากันไว้ หรือถ้าไม่อาจจะทำได้โดยสภาพของสถานที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ตกลงกันได้ก็ให้ดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ สำหรับทางคนเดินรายนี้ต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่จะต้องวินิจฉัย ในชั้นนี้มีเฉพาะทางคนเดินจากหมายอักษร ข. ไปยังต้นมะลุมหมายอักษร ล. ในแผนที่กลางเท่านั้น ส่วนทางเกวียนตั้งแต่หมายอักษร ก.ถึง ข.เป็นอันยุติเพียงศาลชั้นต้นแล้ว
เห็นว่าศาลชั้นต้นไปตรวจดูที่พิพาทแล้วได้จดรายงานกระบวนพิจารณาเฉพาะทางคนเดินซึ่งพิพาทกันในชั้นนี้ไว้ว่า ” แนวทางเดินเท้าจากต้นมะลุมหมายอักษร ล. ในแผนที่กลางก็มาจบกับปลายทางเกวียนหมายอักษร ข.” บันทึกไว้เพียงเท่านี้ยังไม่ชัดเจนพอที่จะเข้าใจได้ว่ามีลักษณะและสภาพเป็นทางคนเดินมาแต่ก่อนตรงกับที่คู่ความท้ากันไว้หรือไม่ ? การที่ศาลชั้นต้นยกเอาเหตุผลอื่น ๆ มาวินิจฉัยประกอบเพือให้เห็นว่าคนซึ่งอยู่ในที่ดินของโจทก์ย่อมต้องใช้ทางนี้เป็นทางเข้าออกมาแต่เดิมด้วย แล้วบังคับให้จำเลยเปิดทางคนเดินนั้นเป็นเรื่องนอกคำท้าของคู่ความ เป็นการไม่ชอบ
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share