แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การกระทำความผิดฐานรับของโจรโดยได้รับทรัพย์ไว้เพื่อช่วยจำหน่ายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด เป็นความผิดสำเร็จทันทีตั้งแต่เวลาที่ผู้กระทำรับทรัพย์นั้นไว้ในความครอบครองหลังจากนั้นถึงแม้ว่าผู้กระทำจะได้แยกทรัพย์ที่รับไว้ออกใช้หรือจำหน่ายประการใดก็หาใช่การกระทำความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ที่ได้รับไว้นั้นขึ้นอีกไม่ จำเลยรับตั๋วเงิน เช็คเดินทางในคดีนี้และคดีก่อนไว้ในคราวเดียวกันจึงเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรเพียงครั้งเดียวเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีก่อนเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธินำการกระทำนั้นมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยซ้ำอีกเพราะสิทธิฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำผิดดังกล่าวระงับลงแล้วตามป.วิ.อ. มาตรา 39(4) จำเลยใช้ตั๋วเงิน เช็คเดินทางปลอมจำนวน 13 ฉบับ เพื่อขอแลกเงินจากผู้เสียหาย และใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อแสดงตนเป็นบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของตั๋วเงินเช็คเดินทางดังกล่าวหลอกลวงผู้เสียหายในคราวเดียวกัน จำเลยมีความประสงค์โดยตรงที่จะหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายเป็นสำคัญยิ่งกว่าใช้หนังสือเดินทางและตั๋วเงินเช็คเดินทางเป็นรายฉบับ จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาอันเดียวเท่านั้น คือ เพื่อหลอกลวงเอาเงินตามตั๋วเงิน เช็คเดินทางทั้งหมดเป็นจำนวนเดียวกันเป็นการกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมกรรมเดียวกัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266268, 334, 335, 341, 342, 357, 91, 33 ริบของกลางทั้งหมด ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 12,585 บาท แก่ผู้เสียหายและนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6275/2531 และ 6276/2531ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรและฐานอื่นตามฟ้อง นอกจากฐานลักทรัพย์และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ และยื่นคำแถลงแนบท้ายคำให้การว่าจำเลยรับเช็คเดินทางไว้รวม 19 ฉบับ ได้นำไปใช้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2531รวม 13 ฉบับ ตามฟ้องคดีนี้ อีก 6 ฉบับนำไปใช้ในวันรุ่งขึ้นจึงถูกจับกุมและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในความผิดฐานรับของโจรซึ่งเป็นการกระทำอันเดียวกันกับการกระทำความผิดฐานรับของโจรในคดีนี้แล้ว ดังปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6275/2531 และ6276/2531 ของศาลชั้นต้นโจทก์รับสำเนาแล้วไม่คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357, 264, 266, 268 ประกอบมาตรา 83, 91 ฐานรับของโจรลงโทษจำคุก 2 ปี ฐานปลอมเอกสารหนังสือเดินทางและฐานใช้เอกสารหนังสือเดินทางปลอม ให้ลงโทษฐานใช้หนังสือเดินทางปลอมแต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ฐานปลอมเอกสารตั๋วเงินเช็คเดินทางและฐานใช้เอกสารตั๋วเงินเช็คเดินทางปลอม ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินเช็คเดินทางปลอม แต่กระเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำเลยกระทำฐานนี้รวม 13 กรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปจำคุกระทงละ 2 ปี รวม 13 กระทง จำคุก 26 ปี รวมเป็นกระทำความผิดทั้งสิ้น 15 กระทง จำคุก 30 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก15 ปี ให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6275/2531และ 6276/2531 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 12,585 บาทแก่ผู้เสียหาย ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรตั๋วเงินเช็คเดินทางจำนวน 13 ฉบับ ตามฟ้องในคดีนี้เป็นการกระทำอันเดียวกันกับการกระทำความผิดฐานรับของโจรตั๋วเงินเช็คเดินทางจำนวน 6 ฉบับ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6275/2531 และ 6276/2531ของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตั๋วเงินเช็คเดินทางจำนวน 6 ฉบับนั้น ในคดีดังกล่าวไปก่อนแล้วถือได้ว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะนำการกระทำความผิดฐานรับของโจรตั๋วเงินเช็คเดินทางอีก 13 ฉบับ ของจำเลยมาฟ้องจึงย่อมระงับไปแล้วและการกระทำความผิดฐานใช้ตั๋วเงินเช็คเดินทางปลอม ตลอดจนในหนังสือเดินทางปลอมเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,266(4), 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83, 90 ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 266(4) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจร นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฟ้องของโจทก์ฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 342 เป็นอันยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาในชั้งนี้คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรตั๋วเงินเช็คเดินทางในคดีนี้ระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) หรือไม่โจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6275/2531 และ6276/2531 ของศาลชั้นต้นนั้นเป็นคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดเฉพาะที่เกี่ยวกับตั๋วเงินเช็คเดินทางจำนวน 6 ฉบับเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันตั๋วเงินเช็คเดินทางอีก 13 ฉบับ ในคดีนี้ เนื่องจากจำเลยได้แยกตั๋วเงินที่รับไว้ออกครอบครองเป็น 2 จำนวน และนำไปใช้ต่างวาระกันโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ฐานรับของโจรตั๋วเงินเช็คเดินทางจำนวน13 ฉบับ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา โดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงได้ความว่า จำเลยรับตั๋วเงินเช็คเดินทางไว้ในความครอบครองในคราวเดียวกันรวม 19 ฉบับ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ได้แก่ตั๋วเงินเช็คเดินทางในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6275/2531 และ 6276/2531 ของศาลชั้นต้นรวมมั้งตั๋วเงินเช็คเดินทางในคดีนี้หลังจากนั้นจำเลยได้นำตั๋วเงินเช็คเดินทางที่รับไว้จำนวน 13 ฉบับ ไปใช้ในวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2531 และในวันรุ่งขึ้นได้นำตั๋วเงินเช็คเดินทางที่เหลืออยู่จำนวน 6 ฉบับ ไปใช้จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม และศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตั๋วเงินเช็คเดินทางจำนวน 6 ฉบับ ไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงดังกล่าวข้างต้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรกบัญญัติว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อรับจำนำ หรือรับไว้โดยประการในซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ ฯลฯ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษ…ฯลฯ…” กระทำความผิดฐานรับของโจรโดยรับทรัพย์ไว้เพื่อช่วยจำหน่าย โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดดังระบุไว้จึงเป็นความผิดสำเร็จทันทีตั้งแต่เวลาที่รับทรัพย์นั้นไว้ในครอบครองหลังจากนั้นถึงแม้ว่าผู้กระทำจะได้แยกทรัพย์ที่รับไว้ออกใช้หรือจำหน่ายประการใดก็หาใช่การกระทำความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ที่ได้รับไว้นั้นขึ้นอีกไม่ โดยเหตุนี้การที่จำเลยรับตั๋วเงินเช็คเดินทางในคดีนี้ และคดีก่อนดังกล่าวข้างต้นไว้ในคราวเดียวกันจึงเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรเพียงครั้งเดียวเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีก่อนเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธินำการกระทำนั้นมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยซ้ำอีกเพราะสิทธิฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำดังกล่าวระงับลงแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า การที่จำเลยใช้ตั๋วเงินเช็คเดินทางปลอมจำนวน 13 ฉบับ เพื่อขอแลกเงินจากผู้เสียหายและใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อแสดงตนเป็นบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของตั๋วเงินเช็คเดินทางดังกล่าวหลอกลวงผู้เสียหายในคราวเดียวกันเป็นการกระทำความผิดฐานในเอกสารปลอมหมายกรรมต่างกันหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ในการพิจารณาว่าการกระทำความผิดใดเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ นอกจากพิจารณาถึงสภาพของการกระทำและเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วยังจะต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดอันเป็นองค์ประกอบภายในจิตใจของผู้กระทำความผิดนั้นด้วย พฤติการณ์ของจำเลยตามฟ้องคดีนี้ชี้ชัดว่า จำเลยมีความประสงค์โดยตรงคือต้องการหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายเป็นสำคัญยิ่งกว่าใช้หนังสือเดินทางและตั๋วเงินเช็คเดินทางเป็นรายฉบับตั๋วเงินเช็คเดินทางจำนวน 13 ฉบับตามฟ้องมีจำนวนเงินรวมกันทุกฉบับเพียง 12,585 บาท ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องแยกหลอกลวงเอาเงินจำนวนปลีกย่อยหลายจำนวน จำเลยนำเอกสารทุกฉบับไปแสดงต่อนายเอื้อชัย จูปั้น พนักงานของธนาคารผู้เสียหายในคราวเดียวกันจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาอันเดียวเท่านั้น คือเพื่อหลอดลวงเอาเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมดเป็นจำนวนเดียวกัน หาได้มีเจตนาให้มีผลแยกต่างหากจากกันไม่ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.