คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 93/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์แห่งประเทศไทยพ.ศ.2511มาตรา105และตามมาตรา104จำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าแก่กิจการสหกรณ์ทุกประเภททั้งราชอาณาจักรซึ่งมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกันก็ตามแต่ตามมาตรา106(5)จำเลยยังมีอำนาจซื้อจัดหาจำหน่ายถือกรรมสิทธิ์ครอบครองหรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา107(5)และในทางปฏิบัติจำเลยมีงบรายได้และค่าใช้จ่ายโดยรายได้สูงกว่ารายจ่ายจะตกเป็นทุนในการดำเนินงานต่อไปเช่นนี้แสดงว่าการดำเนินกิจการของจำเลยมีลักษณะแสวงหาประโยชน์จากกิจการเหล่านั้นโดยมิใช่เป็นกิจการให้เปล่ากิจการของจำเลยจึงเป็นกิจการที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่16เมษายน 2515

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2511 เดิมจำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นพนักงานประจำ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ต่อมาเมื่อวันที่10 ธันวาคม 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างงวดสุดท้ายคูณด้วยจำนวน 180 วัน เป็นเงิน 124,860 บาทและให้จำเลยชำระค่าเสียหายเท่ากับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ในต้นเงิน 124,860 บาท นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2536ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,873.50 บาท กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเท่ากับดอกเบี้ยในอัตราเดียวกัน นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินชดเชยทั้งหมดให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าแก่กิจการสหกรณ์ทุกประเภททั่วราชอาณาจักร อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกัน ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 104 กิจการของจำเลยจึงเป็นกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า กิจการของจำเลยอยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามฟ้อง เห็นว่า แม้จำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 105 และปรากฏตามมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าแก่กิจการสหกรณ์ทุกประเภททั่วราชอาณาจักร อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกันก็ตามแต่ตามมาตรา 106(5) จำเลยยังมีอำนาจซื้อ จัดหา จำหน่าย ถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง หรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน และอาจมีรายได้จากค่าตอบแทนในการบริการตลอดถึงผลประโยชน์จากทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 107(5) ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาเป็นที่ยุติว่า ในทางปฏิบัติจำเลยมีงบรายได้และค่าใช้จ่ายปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 รายได้สูงกว่ารายจ่ายจะตกเป็นทุนในการดำเนินงานต่อไป เช่นนี้ แสดงว่าการดำเนินกิจการของจำเลยมีลักษณะแสวงหาผลประโยชน์จากกิจการเหล่านี้ โดยมิใช่เป็นกิจการให้เปล่า กิจการของจำเลยจึงเป็นกิจการที่แสวงหาผลกำไรในทางเศรษฐกิจ ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่สำหรับประเด็นที่ว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าชดเชยและดอกเบี้ยเพียงใดนั้นศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อน”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวข้างต้นเสียก่อนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share