แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องระบุถึงสถานที่ที่อ้างว่าจำเลยตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์จากลูกค้าซึ่งเป็นสถานที่ที่มีอาหารสุราหรือเครื่องดื่มจำหน่ายอันเป็นสถานที่ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้าเท่านั้นโดยมิได้ระบุว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ที่มีหญิงบำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้าหรือโดยมีที่พักผ่อนหลับนอนหรือมีบริการนวดแก่ลูกค้าการบรรยายดังกล่าวไม่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าสถานที่ที่อ้างว่าจำเลยจัดตั้งเป็นสถานที่ที่มีหญิงบำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้าเพราะสถานที่ซึ่งมีบริการให้แก่ลูกค้าอาจมิใช่สถานที่ที่มีหญิงบำเรอก็ได้ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญแห่งองค์ประกอบความผิดถือไม่ได้ว่าสถานที่ที่จำเลยจัดตั้งดังกล่าวเป็นสถานที่บริการตามความหมายของมาตรา3(2)จึงลงโทษจำเลยในข้อหานี้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตั้งสถานบริการชื่อ บาร์มิสตี้โดยจัดให้มีการจำหน่าย สุรา อาหาร เครื่องดื่มและมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า โดยมิได้รับอนุญาตก่อนการจัดตั้ง และจำเลยได้ยินยอมให้ผู้มีชื่อซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์เข้าทำงานในสถานบริการของตน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509มาตรา 3(3), 4, 16, (2), 26, 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 3(3), 4, 16(2), 26, 27เรียงกระทงลงโทษ ความผิดตามมาตรา 3(2), 4 วรรคแรก, 26 จำคุก1 เดือน ความผิดตามมาตรา 16(2), 27 ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก1 เดือน ปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกเปลี่ยนเป็นกักขังแทน
จำเลย อุทธรณ์ ขอให้ รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าตามคำฟ้องโจทก์ข้อ ก. กล่าวหาจำเลยว่ามีความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการพ.ศ. 2509 มาตรา 3 หรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติสถานบริการพ.ศ. 2509 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ในพระราชบัญญัตินี้”
“สถานบริการ” หมายความถึง สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้า ดังต่อไปนี้
(1) สถานเต้นรำ รำวงหรือรองเง็ง ประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ
(2) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีหญิงบำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า หรือโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอน หรือมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า
(3) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า
(4) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายโดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอย่างอื่นใดเพื่อการบันเทิง”
คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดข้อหาตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำฟ้องข้อ ก. ว่า “จำเลยได้ตั้งสถานบริการชื่อ “บาร์มิสตี้” โดยจัดให้มีการจำหน่ายสุรา อาหาร เครื่องดื่มและมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า โดยมิได้รับอนุญาตก่อนการจัดตั้งอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” ตามคำฟ้องดังกล่าว เห็นได้ว่าโจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 3(2) แต่อ้างบทมาตราผิดเป็นมาตรา 3(3) ซึ่งถ้าฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 3(2) ศาลก็ลงโทษตามมาตรา 3(2) ที่ถูกต้องได้ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 3(2) หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ระบุถึงสถานที่ที่อ้างว่าจำเลยตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์จากลูกค้าซึ่งเป็นสถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มจำหน่ายอันเป็นสถานที่ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้าเท่านั้น โดยมิได้ระบุว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ที่มีหญิงบำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้าหรือโดยมีที่พักผ่อนหลับนอนหรือมีบริการนวดแก่ลูกค้า การบรรยายดังกล่าวไม่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าสถานที่ที่อ้างว่าจำเลยจัดตั้งเป็นสถานที่ที่มีหญิงบำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า เพราะสถานที่ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้าอาจมิใช่สถานที่ที่มีหญิงบำเรอก็ได้ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญแห่งองค์ประกอบความผิด ถือไม่ได้ว่าสถานที่ที่จำเลยจัดตั้งดังกล่าวเป็นสถานที่บริการตามความหมายของมาตรา 3(2) จึงลงโทษจำเลยในข้อหานี้ไม่ได้
ส่วนฟ้องข้อ ข. นั้น เห็นว่า กรณีจะเป็นความผิดข้อหานี้สถานที่ทำงานจะต้องเป็นสถานบริการตามความหมายของพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 3 เสียก่อน เมื่อสถานที่ที่จำเลยตั้งขึ้นมิใช่สถานบริการตามความหมายของกฎหมายดังกล่าว ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยจึงไม่มีความผิดข้อหานี้เช่นกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน