แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์จะฟ้องคดีภาษีอากรต่อศาลภาษีอากรกลางได้จะต้องเป็นคดีที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 สำหรับคดีเกี่ยวกับการขอคืนภาษีอากรนั้น ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้ขอคืนเงินค่าภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น ตามมาตรา 9 ทั้งต้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืน โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาโจทก์ได้ชี้แจงและนำส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการขอคืนเพิ่มเติม จำเลยมีหนังสือยกเลิกคำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร และโอนเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ แต่ไม่คืนดอกเบี้ยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ เห็นได้ว่าดอกเบี้ยตามมาตรา 4 ทศ เป็นดอกผลโดยนิตินัยของภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์เสียเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย และจำเลยต้องพิจารณาสั่งคืน เมื่อจำเลยสั่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ไม่คืนดอกเบี้ยแก่โจทก์ ย่อมมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งแล้ว
การคำนวณดอกเบี้ยต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรข้อ 1 (2) มิใช่นับแต่วันส่งเอกสารจนครบ เนื่องจากการที่เจ้าพนักงานเรียกให้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบ ตามข้อ 2 วรรคสาม มีผลเพียงให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามข้อ 2 วรรคสี่ เท่านั้น เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีในเดือนภาษีที่พิพาทแต่ละฉบับจนถึงวันที่ลงนามในคำสั่งคืนเงินเป็นระยะเวลาที่พ้นกำหนดสามเดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ย
ตามหนังสือที่แจ้งให้โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 18 เมษายน 2556 เป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานที่เรียกเอกสารหรือพยานหลักฐานที่กำหนดเวลาไว้น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 วรรคสาม จำเลยไม่อาจระงับการคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน
กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 1 วรรคสอง นั้น ให้คิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน หลังจากนั้นไม่มีการคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์อีก จำเลยชอบที่จะเร่งรัดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระเกินไปพร้อมดอกเบี้ย เมื่อจำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์อีกต่อไป การที่ดอกเบี้ยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มหยุดลงตั้งแต่วันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีแล้ว หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไม่ โจทก์ชอบที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรา 4 ทศ ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณา จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนจำนวน 651,143.76 บาท ความเสียหายในส่วนนี้ได้รับการบรรเทาไปแล้ว จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังค้างจ่ายแก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินค่าดอกเบี้ยค้างจ่ายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,996,262.24 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของยอดเงิน 1,996,262.24 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังยุติว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อจำเลยเจ็ดเดือนภาษี ซึ่งต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรแก่โจทก์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อจำเลย แล้วต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2557 จำเลยมีหนังสือแจ้งยกเลิกการไม่คืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์ และวันที่ 25 มีนาคม 2557 จำเลยได้โอนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 13,344,554.24 บาท โจทก์จึงมีหนังสือฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2557 ขอให้จำเลยสั่งคืนดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร แล้วโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ภายหลังโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2557 จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จำนวน 651,143.76 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์จะฟ้องคดีภาษีอากรต่อศาลภาษีอากรกลางได้จะต้องเป็นคดีที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 สำหรับคดีเกี่ยวกับการขอคืนภาษีอากรนั้น ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้ขอคืนเงินค่าภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 9 คดีนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนจนกระทั่งจำเลยมีคำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากร ต่อมาโจทก์อุทธรณ์คำสั่ง และจำเลยมีหนังสือยกเลิกหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรแก่โจทก์ ย่อมเป็นการเข้าหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 และมาตรา 9 ทั้งต้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังยุติว่า เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืน โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาโจทก์ได้นำส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการขอคืนเพิ่มเติมและชี้แจงจนเจ้าพนักงานของจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า หนังสือชี้แจงของโจทก์มีเหตุผลรับฟังได้ถึงการขายสินค้าต่ำกว่าทุนและราคาขายสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันที่มีราคาแตกต่างกัน จึงมีหนังสือยกเลิกคำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2557 จำเลยโอนเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ 13,344,554.24 บาท แต่ไม่คืนดอกเบี้ยสำหรับการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ให้อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง และดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่ง มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีอากรที่ได้รับคืน และให้จ่ายจากเงินภาษีอากรที่จัดเก็บได้ตามประมวลรัษฎากรนี้ เห็นได้ว่าดอกเบี้ยตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ก็เป็นดอกผลโดยนิตินัยของภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์เสียเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย ซึ่งมีบทบัญญัติตามมาตรา 4 ทศ กำหนดให้จำเลยต้องพิจารณาสั่งคืน เมื่อจำเลยสั่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ไม่คืนดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยปฏิบัติตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ ย่อมมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งแล้ว โดยจำเลยต้องพิจารณาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร อันเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามแนวทางปฏิบัติของจำเลย ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรอยู่ในอำนาจควบคุมดูแลของจำเลย กรณีสรรพากรพื้นที่ปทุมธานี 2 อ้างว่า ได้มีหนังสือหารือไปยังสรรพากรภาค 4 และสรรพากรภาค 4 อ้างว่ายังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน จึงส่งเรื่องหารือสำนักมาตรฐานการจัดเก็บภาษี ต่อมาสำนักกฎหมายมีหนังสือตอบข้อหารือไปยังสำนักมาตรฐานการจัดเก็บภาษีก็เป็นภายหลังจากโจทก์กับจำเลยมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาล เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเวลาดำเนินการพิจารณาสั่งตามขอบอำนาจที่กฎหมายให้อำนาจไว้นั้น และยังมิได้มีคำชี้ขาดทางใดทางหนึ่งก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาสู่ศาล นั้น เห็นว่า การพิจารณาที่เนิ่นช้าล่วงเลยไปถึงสี่หรือห้าเดือนทั้งที่เป็นกรณีมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงแล้ว และเป็นกฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยด้วย ไม่ควรอ้างว่ายังอยู่ในช่วงเวลาดำเนินการพิจารณาสั่งตามขอบอำนาจที่กฎหมายให้อำนาจไว้นั้นเนิ่นนานเกินสมควร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับคืนและดอกเบี้ยผิดนัดหรือไม่ เพียงใด นั้น คดีนี้คู่ความได้สืบพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจะวินิจฉัยให้ เพื่อมิให้เป็นการล่าช้า จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 (เดิม) ในปัญหานี้มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดหลักเกณฑ์ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายสั่งให้คืนดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินภาษีอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ได้รับคืน โดยไม่คิดทบต้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยกฎกระทรวง ทั้งนี้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ข้อ 1 (2) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการไม่ว่าจะชำระพร้อมกับการยื่นหรือไม่ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร” ข้อ 2 “การคิดดอกเบี้ยตามข้อ 1 จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้” วรรคสอง “การยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ผู้ยื่นคำร้องต้องนำเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปแสดงต่อเจ้าพนักงานเพื่อพิสูจน์ว่าได้เสียภาษีอากรเกินไปด้วย” วรรคสาม “ในกรณีที่เจ้าพนักงานเรียกเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่า ได้ถูกหักหรือเสียภาษีอากรเกินกว่าที่ต้องเสีย ผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรต้องนำเอกสารหรือหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง แต่ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่งเป็นหนังสือ ในกรณีที่มีเหตุสมควรอธิบดีมีอำนาจขยายระยะเวลาดังกล่าวให้ได้ แต่ให้ระงับการคิดดอกเบี้ยให้ในระหว่างเวลาที่ขยายให้จนถึงวันที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน” และวรรคสี่ “ถ้าผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานภายในเวลาที่กำหนดหรือภายในเวลาที่อธิบดีได้ขยายให้ ให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งตามวรรคสาม” ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระตามแบบแสดงรายการให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรและให้คิดดอกเบี้ยถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน โจทก์ส่งเอกสารให้เจ้าพนักงานของจำเลยวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ต่อมาเจ้าพนักงานของจำเลยได้เรียกให้โจทก์ส่งเอกสารให้ตรวจสอบเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง ซึ่งโจทก์ได้ส่งมอบเอกสารให้เจ้าพนักงานครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 โจทก์ส่งเอกสารหลักฐานให้จำเลยตรวจสอบจนทราบว่า โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจริง จึงมีคำสั่งคืนภาษีแก่โจทก์ โดยจำเลยต้องสั่งคืนดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) โดยเจ้าพนักงานของจำเลยต้องคำนวณดอกเบี้ยให้โจทก์โดยเริ่มคิดดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอคืนตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) พิพาทแต่ละฉบับ คิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ ที่จำเลยอ้างว่า การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานเรียกให้โจทก์ส่งมอบเอกสารเพื่อตรวจสอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีอากร ข้อ 2 วรรคสาม การคำนวณดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มคำนวณนับแต่พ้นกำหนดสามเดือน นับแต่วันส่งเอกสารครบ คือวันที่ 30 มกราคม 2557 จนถึงวันที่ลงนามในคำสั่งคืนเงินภาษีอากร คือวันที่ 18 มีนาคม 2557 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษี โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า การคำนวณดอกเบี้ยต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 1 (2) มิใช่นับแต่วันส่งเอกสารจนครบ เนื่องจากการเรียกให้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบของเจ้าพนักงาน ตามข้อ 2 วรรคสาม มีผลเพียงให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามข้อ 2 วรรคสี่ เท่านั้น ซึ่งเมื่อนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีในเดือนภาษีที่พิพาทแต่ละฉบับจนถึงวันที่ลงนามในคำสั่งคืนเงินเป็นระยะเวลาที่พ้นกำหนดสามเดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ย ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยอ้างว่า เดือนภาษีมีนาคม 2555 (ยื่นเพิ่มเติม) เมษายน 2555 เมษายน 2555 (ยื่นเพิ่มเติม) และเดือนภาษีตุลาคม 2555 โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เจ้าพนักงานสั่งและโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นั้น เห็นว่า ตามหนังสือที่ กค 0708.09 กก 02/4620 ลงวันที่ 4 เมษายน 2556 และหนังสือที่ กค 0708.09 กก 02/4756 ลงวันที่ 5 เมษายน 2556 ที่แจ้งให้โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2551 ถึง 2555 ในวันที่ 18 เมษายน 2556 เป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานที่เรียกเอกสารหรือพยานหลักฐานที่กำหนดเวลาไว้น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 วรรคสาม จำเลยจึงไม่อาจระงับการคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าเดือนภาษีมกราคม 2556 กุมภาพันธ์ 2556 และเดือนภาษีมีนาคม 2556 โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจนถึงวันก่อนวันสุดท้ายที่เจ้าพนักงานมีคำสั่งเรียกเอกสารหรือพยานหลักฐาน ซึ่งอยู่ในระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย ไม่อาจรับฟังได้ด้วยเหตุผลตามที่ได้วินิจฉัย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่มพิพาทที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนนับแต่วันที่จำเลยลงนามในคำสั่งคืนจนกว่าจะชำระแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 1 วรรคสอง นั้น ให้คิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน หลังจากนั้นไม่มีการคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์อีก เจ้าพนักงานของจำเลยชอบที่จะเร่งรัดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์เสียไปโดยชำระเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดพร้อมดอกเบี้ย หลังจากต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบเพื่อคืนภาษี เมื่อจำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์อีกต่อไป การที่ดอกเบี้ยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มหยุดลงตั้งแต่วันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีแล้ว หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไม่ โจทก์ชอบที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายส่วนนี้เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าระหว่างพิจารณา จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 651,143.76 บาท ความเสียหายในส่วนนี้จึงได้รับการบรรเทาไปแล้ว จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังค้างจ่ายแก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยกรณีคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ตามฟ้องในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนนับตั้งแต่วันครบระยะเวลาสามเดือน นับตั้งแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ. 30) แต่ละฉบับเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยจนถึงวันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีหักด้วยเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์แล้วจำนวน 651,143.76 บาท ทั้งนี้ไม่เกิน 1,345,118.48 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังค้างจ่ายแก่โจทก์ดังกล่าว นับตั้งแต่วันถัดจากวันลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ