คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 บัญญัติว่าให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึกเอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานสอบสวนจึงต้องนำบันทึกคำให้การซึ่งเป็นบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาฉบับเดิมที่จำเลยที่ 1 เป็นคนร่วมสอบสวนและบันทึกรวมเข้าสำนวนไว้ จำเลยที่ 1จะอ้างว่าได้ทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาใหม่แล้วของเดิมไม่สำคัญ หรือผู้ให้ถ้อยคำไม่ประสงค์จะใช้ของเดิมจึงไม่นำเข้ารวมสำนวนไว้ ย่อมไม่อาจกระทำได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหา ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษา โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200วรรคแรก และทำให้ผู้กล่าวหาและกรมตำรวจเสียหายอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งสารวัตรสืบสวนสอบสวนจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีเทพ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันเปลี่ยนคำให้การของนายบัญชา นาคประดิษฐ์ ผู้ต้องหาและนายปาน นาคนิยม ผู้กล่าวหาในคดีที่นายบัญชาถูกกล่าวหาว่าฆ่านายบรรจง นาคนิยม ถึงแก่ความตาย ร่วมกันบันทึกคำให้การของจ่าสิบตำรวจชัยศักดิ์ เหรียญทองสิบตำรวจเอกทองยศ กาวิไล นายประมวน หาญชัยภูมิ และนายสุรินทร์ ชาดิษฐ์ ซึ่งเป็นพยานในคดีดังกล่าว โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง และได้ร่วมกันละเว้นไม่บันทึกคำให้การของนายประหยัดศรีนวลวงศ์ นายดิเรก ต้นสาลี นายม่าน บัวเลียง และนายอำนาจหรือตี๋ ศรีแก้ว ซึ่งเป็นพยานสำคัญไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีดังกล่าว อันเป็นการกระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้งสองโดยมิชอบ เพื่อช่วยนายบัญชาผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ และเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายปานผู้กล่าวหาซึ่งเป็นบิดาของนายบรรจงผู้ตาย และกรมตำรวจกับจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำให้เสียหาย ซ่อนเร้นเอาไปเสียและทำให้สูญหายซึ่งบันทึกคำให้การของนายบัญชาผู้ต้องหาจำนวน 2 แผ่น (ฉบับแรก) และนายปานผู้กล่าวหาจำนวน 2 แผ่น(ฉบับแรก) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในสำนวนการสอบสวนอันเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ดูแลรักษา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 157, 158, 200
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 158, 200 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามมาตรา 158 ให้จำคุก1 ปี ความผิดตามมาตรา 157 และ 200 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 5 ปี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 158, 200 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุก 4 ปี
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2528 เวลาประมาณ 24 นาฬิกาถึงเวลา 1 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นได้มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายบรรจงนาคนิยม ถึงแก่ความตายที่บริเวณเวทีรำวง ในงานประจำปีของโรงเรียนสว่างวัฒนา ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายบัญชา นาคประดิษฐ์ได้ ขณะนั้นจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวน จำเลยที่ 2 เป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีเทพ และเป็นพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีนายบัญชาโดยกล่าวหาว่าฆ่าผู้อื่นมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันสอบสวนและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและพยานทุกปาก นายบัญชาให้การปฏิเสธ จำเลยทั้งสองได้บันทึกคำให้การไว้ 2 ครั้ง ครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.7 และครั้งที่สองตามเอกสารหมาย จ.8 ได้บันทึกคำให้การนายปาน นาคนิยม บิดาผู้ตายในฐานะผู้กล่าวหา 2 ครั้ง ครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.24 และครั้งที่สองตามเอกสารหมาย จ.25 แต่จำเลยทั้งสองไม่นำคำให้การของนายบัญชาและนายปานครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.24 รวมเข้าไว้ในสำนวน นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองได้บันทึกคำให้การของจ่าสิบตำรวจชัยศักดิ์ เหรียญทองสิบตำรวจเอกทองยศ กาวิไล นายประมวล หรือประมวน หาญชัยภูมิและนายสุรินทร์ ชาดิษฐ์ ซึ่งเป็นพยานในคดีไว้ ตามเอกสารหมายจ.2, จ.4, จ.13 และ จ.15 ตามลำดับ แต่ไม่ได้สอบปากคำ นายประหยัดศรีนวลวงศ์ นายดิเรก ต้นสาลี นายม่าน บัวเรียง และนายอำนาจหรือตี๋ ศรีแก้ว ไว้เป็นพยาน ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนได้สรุปสำนวนทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาสั่งไม่ฟ้องนายบัญชาปรากฏตามสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย ปจ.2ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร และปจ.14 ของศาลอาญา
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการสอบสวน และบันทึกปากคำพยาน จำเลยที่ 1 รับมอบสำนวนการสอบสวนมาในภายหลังแต่เหตุที่ปรากฏมีชื่อจำเลยที่ 1 ร่วมในฐานะพนักงานสอบสวนด้วยเพราะจำเลยที่ 1 เป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวน มีหน้าที่จะต้องลงชื่อร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในคดีอุกฉกรรจ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้สอบสวนเองเป็นส่วนมาก และให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อร่วมในภายหลังนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูบันทึกคำให้การผู้ต้องหา ผู้กล่าวหาทั้งฉบับเก่าและฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.7, จ.8, จ.24 และ จ.25 รวมทั้งบันทึกคำให้การพยานคนอื่น ๆ แล้ว ปรากฏว่ามีข้อความบันทึกในหน้าแรกเหมือนกันทุกฉบับว่าสอบสวนต่อหน้า พันตำรวจตรีนิยม วิชัยดิษฐ์สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีเทพ จำเลยที่ 1และร้อยตำรวจโทอรรถพล เนตรคำ รองสารวัตรสืบสวนสอบสวนจำเลยที่ 2 และจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ตอนท้ายคำให้การดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ได้มีการสอบสวนและบันทึกคำให้การต่อหน้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่จำเลยที่ 2 บันทึกแล้วนำมาให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อในภายหลัง จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรู้เห็นในการสอบสวนและร่วมทำบันทึกคำให้การมาแต่แรก ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ในการสอบสวนบันทึกปากคำผู้ต้องหาหรือพยานนั้น เมื่อได้ให้การไปแล้ว หากผู้ให้การประสงค์จะให้การใหม่โดยไม่ประสงค์จะใช้คำให้การเดิมพนักงานสอบสวนก็ย่อมจะทำการสอบสวนใหม่ได้ ส่วนคำให้การเดิมนั้นไม่มีกฎหมายหรือระเบียบบังคับไว้ว่าจะต้องนำมารวมไว้ในสำนวน พนักงานสอบสวนจะพิจารณาดูว่าที่ให้การไว้แต่เดิมนั้นเป็นประโยชน์แก่คดีและเป็นพยานสำคัญในคดีหรือไม่ หากเป็นประโยชน์ก็จะนำเข้ารวมสำนวนไว้ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็จะไม่นำเข้าสำนวน อีกทั้งจะต้องพิจารณาจากความประสงค์ของผู้ให้ถ้อยคำด้วยว่าประสงค์จะใช้ถ้อยคำเดิมหรือใช้ถ้อยคำใหม่ในการที่จะดำเนินคดีประกอบด้วยเอกสารหมาย จ.7 และ จ.24 ซึ่งเป็นบันทึกคำให้การของนายบัญชา ผู้ต้องหาและของนายปาน ผู้กล่าวหาไม่ถือว่าเป็นเอกสารสำคัญแห่งคดีจึงไม่ได้นำเอกสารหมาย จ.7 และจ.24 รวมสำนวนไว้นั้น เห็นว่าในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 บัญญัติไว้ว่า ให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึกเอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้ ฉะนั้นจำเลยที่ 1จึงต้องนำบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.7 และ จ.24 ซึ่งจำเลยที่ 1เป็นคนร่วมสอบสวนและบันทึกรวมเข้าสำนวนไว้ จำเลยที่ 1จะอ้างว่าได้ทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา และผู้กล่าวหาใหม่แล้วของเดิมไม่สำคัญ หรือผู้ให้ถ้อยคำไม่ประสงค์จะใช้ของเดิม จึงไม่นำเข้ารวมสำนวนไว้ ย่อมไม่อาจกระทำได้ อีกทั้งในคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาฉบับใหม่ที่จำเลยที่ 1 ร่วมทำไว้ตามเอกสารหมาย จ.8และ จ.25 ก็มิได้มีการเท้าความหรืออ้างถึงคำให้การฉบับเดิมตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.24 หรือมีข้อความว่า ผู้ให้ถ้อยคำขอให้การใหม่แต่ประการใด อันเป็นการแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ 1 ที่จะปิดบังคำให้การเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคำเบิกความของสิบตำรวจเอกทองยศ กาวิไล และของจ่าสิบตำรวจชัยศักดิ์ เหรียญทอง ที่เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้นำคำให้การเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 ที่พิมพ์เสร็จแล้วนำมาให้สิบตำรวจเอกทองยศและจ่าสิบตำรวจชัยศักดิ์ลงชื่อโดยมีข้อความไม่ตรงตามความเป็นจริง ไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักนั้น เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ได้ยินเสียงปืน เป็นคนไล่ติดตามจับคนร้ายหลังเกิดเหตุ รวมทั้งเป็นผู้ไปจับกุมผู้ต้องหาได้ พยานโจทก์ทั้งสองย่อมต้องรู้เห็นเรื่องใครเป็นคนร้ายดังที่ได้เบิกความในชั้นศาลและที่ได้ให้การไว้ต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการตามเอกสารหมาย จ.3และ จ.5 ตามลำดับ พยานโจทก์ทั้งสองเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จึงมีเหตุผลทำให้เชื่อได้ว่าคำให้การเอกสารหมายจ.2 และ จ.4 เป็นคำให้การที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงและเป็นคำให้การที่จำเลยพิมพ์เสร็จแล้วนำมาให้สิบตำรวจเอกทองยศ และจ่าสิบตำรวจชัยศักดิ์ลงชื่อจริง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกว่า จำเลยที่ 1 กระทำหน้าที่ด้วยความสุจริต ไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ส่อให้เห็นว่าได้ปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการใด ๆ เพื่อช่วยเหลือนายบัญชาทั้งนายปานและกรมตำรวจไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใดนั้นเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ทำคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาใหม่โดยเก็บฉบับเดิมไว้ไม่นำมารวมเข้าในสำนวนการสอบสวนพิมพ์คำให้การชั้นสอบสวนของจ่าสิบตำรวจชัยศักดิ์และสิบตำรวจเอกทองยศขึ้นเองโดยไม่ตรงตามความเป็นจริงนำมาให้พยานทั้งสองลงชื่อดังกล่าวข้างต้นเมื่อนำคำให้การของผู้ต้องหา และผู้กล่าวหาฉบับเดิมและฉบับใหม่ตามเอกสารหมายจ.7, จ.8, จ.24 และ จ.25 กับคำให้การของสิบตำรวจเอกทองยศและจ่าสิบตำรวจชัยศักดิ์ ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 มาพิจารณาดูแล้ว เห็นได้ชัดแจ้งว่า การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเอาไปเสียซึ่งเอกสารอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะรักษาไว้และกระทำการในตำแหน่งอันมิชอบ ก็โดยมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือนายบัญชาผู้ต้องหาไม่ให้ต้องโทษ และทำให้นายปานผู้กล่าวหากับกรมตำรวจได้รับความเสียหายแล้ว ฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 มิใช่ข้อสำคัญและไม่มีสาระอันควรยกขึ้นวินิจฉัย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งเอกสารอันเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องปกครองรักษาไว้อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 กับการที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157, 200 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นความผิดสองกรรมนั้นเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษานั้น ก็โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาตามมาตรา 200 วรรคแรกแล้ว และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ด้วยการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน หาใช่สองกรรมดังโจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 158, 200โดยไม่ระบุวรรคนั้น ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 158, 200 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share