แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรมชลประทานจำเลยรังวัดกั้นเขตชลประทานไว้ตามประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ เรื่อง ขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ยพ.ศ. 2467 จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าทดแทนที่พิพาทในสำนวนแรกแต่หลังจากมีการรังวัดกันเขตการชลประทานแล้ว ผ.เจ้าของเดิมก็ไม่ได้ครอบครองทำกิน โดยจำเลยได้ครอบครองดูแลไม่ให้ใครมารุกล้ำตลอดมา ส่วนโจทก์เพิ่งจะเข้าทำกินในปี 2519 ถือได้ว่าผ. ได้สละการครอบครองที่พิพาทสำนวนแรกหลังจากมีการรังวัดกันเขตชลประทานเป็นต้นมา และจำเลยก็ได้ครอบครองดูแลที่ดินในแนวเขตการชลประทานซึ่งรวมถึงที่พิพาทตลอดมาจำเลยใช้ที่ดินในเขตการชลประทานซึ่งรวมถึงที่พิพาทเพื่อทิ้งดินที่ได้จากการขุดลอกคลองชลประทาน ถือได้ว่าเป็นการใช้ที่พิพาทเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะที่พิพาทสำนวนแรกจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) การที่โจทก์ในสำนวนแรก เข้าทำกินในที่พิพาทจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยส่วนที่พิพาทสำนวนหลัง ร. เจ้าของเดิมสละการครอบครองตั้งแต่เมื่อมีการรังวัดกับเขตชลประทานตั้งแต่ปี 2481 และจำเลยได้ครอบครองดูแลที่ดินในเขตการชลประทานมาตั้งแต่มีการรังวัดกันเขตโดยใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่พิพาทสำนวนหลังซึ่งอยู่ในเขตการชลประทานจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) นับแต่ที่ ร. สละการครอบครองตั้งแต่เมื่อมีการรังวัดกันเขตการชลประทานถึงแม้ ห. และ โจทก์ในสำนวนหลัง จะเข้าครอบครองและแจ้งการครอบครอง ไว้เมื่อปี 2498 ก็ไม่อาจอ้างการครอบครองขึ้นต่อสู้จำเลยได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และให้เรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า เดิมที่ดินใบไต่สวนหน้า 229 เลขที่ 31 ต่อมาเป็นโฉนดเลขที่ 3128 เป็นของนายใช้ปู่ของโจทก์ที่ 1 และที่ดินใบไต่สวนหน้า 176 เลขที่ 26เป็นของเม้ยอ่อน ยายของโจทก์ที่ 2 และเป็นทวดของโจทก์ที่ 3เมื่อปี 2467 มีพระบรมราชโองการ เรื่อง ขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับการทดน้ำไขน้ำในบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ยทำให้ที่ดินของนายใช้และเม้ยอ่อนถูกผ่ากลางออกเป็นสองส่วนส่วนที่เหลือนายใช้และเม้ยอ่อนยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของตลอดมา จนนายใช้และนางเม้ยอ่อนถึงแก่ความตาย นายผิวบิดาโจทก์ที่ 1 และนายรักหรือลักผู้เป็นบุตร และบิดาโจทก์ที่ 3พี่เขยโจทก์ที่ 2 ต่างเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของนายใช้และเม้ยอ่อน นายผิวและนายรักได้จัดการออกโฉนดไปแล้วบางส่วนคงเหลือที่พิพาทในคดีทั้งสองนี้จำนวน 15 ไร่เศษ และ24 ไร่ ต่อมานายผิว นายรักถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองสำนวนเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของนายผิวและนายรักโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว จำเลยคัดค้านว่าที่พิพาทเป็นที่ดินซึ่งจำเลยได้มาตามพระบรมราชโองการ เรื่องขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ยพ.ศ. 2467 ที่ดินตกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองสำนวน ให้จำเลยถอนคำคัดค้านการขอออกโฉนดของโจทก์ หรือให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนนี้ต่อไป
จำเลยสำนวนแรกให้การและฟ้องแย้งกับจำเลยสำนวนหลังให้การทำนองเดียวกันว่า จีนใช้และเม้ยอ่อนไม่ใช่ญาติของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาท ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ที่พิพาทสำนวนแรกส่วนที่ทำให้ประโยชน์แล้วและที่พิพาทสำนวนหลังเป็นที่หลวงหวงห้าม ต่างก็อยู่ในเขตประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการเรื่องขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ย พ.ศ. 2467 ประกอบกับประกาศเรื่อง ขยายเวลาหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำในบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ยออกไปอีก 8 ปี ฉบับลงวันที่ 11พฤศจิกายน 2469 พระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการชลประทานในบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ยพ.ศ. 2476 และประกาศหวงห้ามที่ดินชายทะเลฝั่งตะวันออกจังหวัดสมุทรปราการ ฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2472 จำเลยได้จัดซื้อและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้นายใช้ อึ้งไหหอง ไปครบถ้วนแล้วและได้นำขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุไว้แล้ว ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะใบไต่สวนที่อ้างมานั้นได้ถูกยกเลิกไม่ใช้และเจ้าพนักงานได้บันทึกลงในต้นฉบับใบไต่สวนแล้ว การที่โจทก์ที่ 1 บุกรุกเข้าทำบ่อปลาในที่พิพาทของจำเลย เป็นการละเมิด จึงฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 และบริวารรื้อถอนทรัพย์สินออกไปให้พ้นที่พิพาท และทำที่ดินให้กลับคืนสภาพเดิม ให้โจทก์ที่ 1 ถอนเรื่องราวขอออกโฉนดที่พิพาท หรือให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 เสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่จำเลยไม่ได้ใช้ที่พิพาท ส่วนฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทราบอยู่แล้วว่าที่พิพาทอยู่ตรงไหนเพราะโจทก์ขอออกโฉนด จำเลยคัดค้าน โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าว 70 ถึง 80 ปีแล้ว จำเลยไม่เคยทำประโยชน์ในที่พิพาทเลย ที่พิพาทไม่ใช่ชายเลน นายใช้หรือทายาทไม่เคยรับเงินค่าที่ดิน ที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เพราะจำเลยมีหน้าที่สร้างคันกั้นน้ำเค็มไม่มีสิทธิหาประโยชน์จากที่ดินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้องแย้งและบังคับตามฟ้องโจทก์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นายชาญ สง่างามบุตรยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่นายชาญถึงแก่ความตายอีก นางสาวประภา แซ่ลิ้ม บุตรอีกคนหนึ่งของโจทก์ที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ให้โจทก์ที่ 1 และบริวารรื้อถอนทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท และทำที่ดินให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้โจทก์ที่ 1 ถอนเรื่องราวขอออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทต่อเจ้าพนักงานมิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1ชำระค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยเดือนละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะรื้อถอนทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า “ที่ดินตามใบไต่สวน หน้า 229เลขที่ 31 ระวาง 14-14-13 ต. 10-9-10 อ. ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.17 เป็นของโจทก์ที่ 1 และที่ดินตามใบไต่สวนเลขที่ 26 หน้าสำรวจ 176 ระวาง 143.11 อ. ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.3 เป็นของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยถอนคำคัดค้านการขอออกโฉนดของโจทก์ทั้งสาม มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่พิพาทในสำนวนแรกตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.17และ จ.18 ของสำนวนแรกและที่พิพาทในสำนวนหลังตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.3 และ จ.ล.4 ของทั้งสองสำนวน ต่างอยู่ในแนวเขตที่ดินที่จำเลยรังวัดกันเขตไว้เป็นเขตการชลประทาน โดยเขตการชลประทานบริเวณที่พิพาททั้งสองคดีมีระยะ 190 เมตร แบ่งเป็นส่วนด้านทิศเหนือและทิศใต้ของคันกั้นน้ำเดิมซึ่งก็คือถนนสุขุมวิทในเวลาต่อมาโดยเขตการชลประทานด้านทิศใต้ของถนนสุขุมวิทวัดจากกึ่งกลางถนนมีระยะ 130 เมตร เขตการชลประทานด้านทิศเหนือของถนนสุขุมวิทมีระยะ 60 เมตร โดยวัดจากกึ่งกลางถนนสุขุมวิทเช่นเดียวกันที่พิพาททั้งสองคดีอยู่ในเขตการชลประทานทางด้านทิศใต้ของถนนสุขุมวิทหรือที่เรียกว่าด้านน้ำเค็ม เขตการชลประทานด้านทิศเหนือของถนนสุขุมวิทเรียกว่าด้านน้ำจืด มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าที่พิพาททั้งสองสำนวนเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ในปัญหาดังกล่าวจำเลยนำสืบว่า ได้รังวัดกั้นเขตการชลประทานไว้ตามประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ เรื่อง ขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ย พ.ศ. 2467 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการภายใน 2 ปีต่อมาได้มีการขยายเวลาออกไป 2 ครั้ง ตามประกาศเรื่อง ขยายเวลาหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำในบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ย ออกไปอีก 8 ปี และพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาหวงห้าม และจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการชลประทานในบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ย พ.ศ. 2476 ซึ่งขยายเวลาออกไปอีก 5 ปีตามเอกสารหมาย ล.4 ของทั้งสองสำนวนแผ่นที่ 1 ถึง 7 และ 9 ตามประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการฯดังกล่าวให้กำหนดเขตการชลประทานไว้ 2 ข้างของถนนสุขุมวิทด้านละ 1 เส้น แต่เนื่องจากที่ดินลุ่มเหลว ระยะ 1 เส้น ตามประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการฯ ไม่เพียงพอกระทรวงเกษตรฯ ในขณะนั้น จึงได้ขยายแนวเขตออกไปโดยได้รังวัดกำหนดแนวเขตไว้ สำหรับที่ดินที่อยู่ในแนวเขตการชลประทานดังกล่าวหากมีเจ้าของก็ได้มีการจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินเรียบร้อยแล้วส่วนที่ดินที่ไม่มีเจ้าของก็ไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเมื่อตอนจำเลยรังวัดกันเขตการชลประทานนั้นจำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าทดแทนที่พิพาทในสำนวนแรก หลังจากมีการรังวัดกันเขตการชลประทานแล้วนายผิวก็ไม่ได้ครอบครองทำกินในที่พิพาทในสำนวนแรกแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 เพิ่งจะเข้ามาทำกินในที่พิพาทในสำนวนแรกเมื่อปี 2519 นี้เอง หลังจากจำเลยรังวัดกันเขตการชลประทานเสร็จก็ได้ครอบครองดูแลไม่ให้ใครมารุกล้ำตลอดมาดังนี้ การที่นายผิวไม่ได้เข้าทำกินในที่พิพาทในสำนวนแรกหลังจากที่การรังวัดกันเขตการชลประทาน ส่วนโจทก์ก็เพิ่งจะเข้าทำกินในปี 2519 ดังกล่าวถือได้ว่านายผิวได้สละการครอบครองที่พิพาทในสำนวนแรกหลังจากมีการรังวัดกันเขตการชลประทานเป็นต้นมา ในขณะเดียวกันจำเลยก็ได้ครอบครองดูแลที่ดินในแนวเขตการชลประทาน ซึ่งรวมถึงที่พิพาทในสำนวนแรกนี้ตลอดมาตั้งแต่มีการรังวัดกันเขตการชลประทาน ซึ่งอย่างช้าก็คงไม่น้อยกว่าปี 2481 ที่มีการออกโฉนดเอกสารหมาย จ.7ของสำนวนแรก และได้ความว่าจำเลยใช้ที่ดินในเขตการชลประทานซึ่งรวมถึงที่พิพาทในสำนวนแรกนี้ด้วยเพื่อทิ้งดินที่ได้จากการขุดลอกคลองชลประทานที่ขนานกับถนนสุขุมวิท ถือได้ว่าเป็นการใช้ที่พิพาทในสำนวนแรกเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่พิพาทในสำนวนแรกจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(3) เมื่อที่พิพาทในสำนวนแรกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นนี้ การที่โจทก์ที่ 1 เข้าทำกินในที่พิพาทจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลย โจทก์ที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหาย นับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะรื้อถอนโยกย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาทนอกจากนี้โจทก์ที่ 1 และบริวารต้องรื้อถอนโยกย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาทในสำนวนแรก และทำให้ที่พิพาทในสำนวนแรกกลับสู่สภาพเดิม รวมทั้งโจทก์ที่ 1 ต้องถอนเรื่องราวขอออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทในสำนวนแรกต่อเจ้าพนักงาน มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา โดยศาลฎีกาเห็นว่าค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ที่ 1 ชำระแก่จำเลยเดือนละ 100 บาท นั้นเหมาะสมแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่พิพาทในสำนวนแรกเป็นของโจทก์ที่ 1 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
สำหรับที่พิพาทในสำนวนหลังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่ 2และที่ 3 ยังฟังไม่ได้ว่านายหงวนและโจทก์ที่ 2 ได้ครอบครองที่พิพาทในสำนวนหลังมาก่อนหรือตั้งแต่ปี 2483 อันเป็นปีที่นายรักขอรังวัดออกโฉนดที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย ล.1 ของสำนวนหลังซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามใบไต่สวนเอกสารหมาย จ.1ของสำนวนหลังเช่นเดียวกับที่พิพาทในสำนวนหลัง และจากที่เอกสารหมาย ล.3 ของทั้งสองสำนวนแผ่นที่ 16, 18 ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับการที่นายรักขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเมื่อปี 2483 ได้ระบุว่าทิศเหนือของที่ดินที่นายรักขอรังวัดออกโฉนดจดเขตการชลประทานและตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าในปี 2481 ได้มีการรังวัดกันเขตชลประทานเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ หากนายรักเคยครอบครองที่ดินพิพาทในสำนวนหลังมาก่อนที่จะมีการรังวัดกันเขตการชลประทานนายรักก็คงสละการครอบครองตั้งแต่เมื่อมีการรังวัดกันเขตชลประทานคืออย่างช้าตั้งแต่ปี 2481 เป็นต้นมา และดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าจำเลยได้ครอบครองดูแลที่ดินในเขตการชลประทานตลอดมาตั้งแต่เมื่อมีการรังวัดกันเขต โดยใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ดังนั้น ที่พิพาทในสำนวนหลังซึ่งอยู่ในเขตการชลประทานจึงตกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) นับแต่ที่นายรักสละการครอบครองตั้งแต่เมื่อมีการรังวัดกันเขตการชลประทานดังนั้น ถึงแม้นายหงวนและโจทก์ที่ 2 จะเข้าครอบครองและแจ้งการครอบครองไว้ เมื่อปี 2498 ตาม สค.1 เอกสารหมาย จ.12 ของสำนวนหลังก็ไม่อาจอ้างการครอบครองขึ้นต่อสู้จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่พิพาทในสำนวนหลังเป็นของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น