คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5663/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะคดีอยู่ในระหว่างที่โจทก์ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยยื่นคำขอเป็นคำร้องขอให้รอการบังคับคดีไว้โดยระบุในคำร้องว่า “คำร้องขอให้คุ้มครองสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264” ซึ่งบทกฎหมายที่จำเลยอ้างในคำร้องดังกล่าวอยู่ในลักษณะ 1 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา อันเป็นบทบัญญัติถึงวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา แต่ปรากฏว่าศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางคดีถึงที่สุดแล้ว คดีจึงไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใด และที่จำเลยร้องขอให้รอการบังคับคดีนี้ไว้เพื่อรอฟังผลของคดีอาญาก็ไม่ใช่เป็นวิธีการเพื่อบังคับตามคำพิพากษา คำร้องขอของจำเลยจึงไม่เข้ามาตรา 264 ย่อมไม่อาจนำบทบัญญัติดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอให้คุ้มครองสิทธิของจำเลยได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2

คดีสืบเนื่องจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองและจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาศาลฎีกาพิพากษายืนระหว่างที่โจทก์ทั้งสองดำเนินการบังคับคดี จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดี ศาลแรงงานกลางสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลฎีกาสั่งยกคำร้องของจำเลย

จำเลยยื่นคำขอเป็นคำร้องอ้างว่าจำเลยได้เป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฟ้องโจทก์ที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสระบุรีข้อหาฉ้อโกง โดยมีคำขอส่วนแพ่งให้โจทก์ที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 317,575 บาท แก่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลและจำเลยได้ฟ้องโจทก์ที่ 2เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดนครปฐมข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม และฉ้อโกง คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้จำเลยยังได้ฟ้องโจทก์ที่ 2 ต่อศาลจังหวัดราชบุรีข้อหาละเมิด ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 500,000 บาท คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาเช่นเดียวกัน เหตุที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ทั้งสองกระทำผิดอาญาต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างอันถือว่าโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่และมีวัตถุประสงค์เพื่อขอคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 119(1) ซึ่งหากศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดอาญาต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างและคดีถึงที่สุด ผลแห่งคดีดังกล่าวจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสิทธิที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 26 ถึงมาตรา 30 ได้รับรองให้ความคุ้มครองไว้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่จำเลยได้รับความคุ้มครอง ขอให้รอการบังคับคดีไว้เพื่อรอผลคำพิพากษาในคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองดังกล่าว

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า คำพิพากษาคดีอาญาที่จะมีขึ้นต่อไปนั้น ไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและศาลฎีกาให้ยกคำร้อง

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าหากศาลในคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจริง จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(1) แม้ศาลแรงงานกลางและศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองแล้วก็ตาม เพราะคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและคำพิพากษาศาลฎีกาหาใช่กฎหมายไม่และไม่มีผลลบล้างกฎหมายดังกล่าวทั้งสิทธิของจำเลยผู้เป็นนายจ้างที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้โดยไม่จำกัดเวลา และเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2540 ได้บัญญัติรับรองและให้ความคุ้มครองไว้ในมาตรา 26 ถึงมาตรา 30 นั้น เห็นว่าคดีนี้อยู่ในระหว่างที่โจทก์ทั้งสองดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยยื่นคำขอเป็นคำร้องขอให้รอการบังคับคดีไว้โดยระบุในคำร้องว่า “คำร้องขอให้คุ้มครองสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264″ ซึ่งบทกฎหมายที่จำเลยอ้างในคำร้องดังกล่าวอยู่ในลักษณะ 1 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา อันเป็นบทบัญญัติถึงวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแต่คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง คดีถึงที่สุดแล้ว คดีจึงไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใด และที่จำเลยร้องขอให้รอการบังคับคดีนี้ไว้เพื่อรอฟังผลของคดีอาญาก็ไม่ใช่เป็นวิธีการเพื่อบังคับตามคำพิพากษาคำร้องขอของจำเลยจึงไม่เข้ามาตรา 264 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ย่อมไม่อาจนำบทบัญญัติที่กล่าวถึงนี้มาอ้างเพื่อขอให้คุ้มครองสิทธิของจำเลยได้ นอกจากนี้ข้ออ้างทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในอุทธรณ์ของจำเลยก็มิได้มีเหตุผลหรือบทบัญญัติใดกำหนดให้ศาลสั่งให้รอการบังคับคดีในกรณีดังกล่าวได้ ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share