คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำเตือนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานให้บริษัทโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ ฉ. ลูกจ้างโจทก์ คำเตือนนี้ไม่มีลักษณะเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดที่มีผลบังคับในกฎหมาย ทั้งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ก็มิได้ระบุกรณีฝ่าฝืนคำเตือนว่าเป็นผิดอาญา การออกคำเตือนจึงไม่ใช่การโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ และไม่ใช่กรณีที่จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลบริษัทโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอน

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องคำให้การ และที่โจทก์จำเลยยอมรับกันว่า นายเฉลิมพร ภุมรินทร์ เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2518 ตลอดมา จนเมื่อเดือนเมษายน 2521 นายเฉลิมพร ภุมิรินทร์ ได้ลาออกจากงานไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งบริษัทโจทก์อนุญาต ครั้นเดือนพฤษภาคม 2523 นายเฉลิมพร ภุมรินทร์ ได้ขอกลับจะเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทโจทก์ใหม่ แต่บริษัทโจทก์ไม่ยอมรับ นายเฉลิมพร ภุมรินทร์ จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า บริษัทโจทก์เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานทำการสอบสวนแล้วเห็นว่า การที่บริษัทโจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับนายเฉลิมพร ภุมรินทร์ กลับเข้าทำงานภายหลังจากพ้นการรับราชการเป็นการเลิกจ้าง และบริษัทโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ฉะนั้นโดยอาศัยอำนาจในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้อ 77 จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานจึงได้ออกคำเตือนเลขที่ 121/2523 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย จ.1 ให้บริษัทโจทก์จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เป็นเงิน 9,000 บาท แก่นายเฉลิมพร ภุมรินทร์ ลูกจ้าง ทั้งนี้ให้นำไปมอบ ณ กรมแรงงาน ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันรับคำเตือนเป็นต้นไป

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่จำเลยได้ออกคำเตือนไปยังบริษัทโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ข้างต้น เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ หรือโจทก์จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลอันจะทำให้บริษัทโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนนั้นหรือไม่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 77 กำหนดว่า “เมื่อปรากฏว่านายจ้างฝ่าฝืนประกาศนี้พนักงานตรวจแรงงาน อาจให้คำเตือนเพื่อให้นายจ้างได้ปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนเสียก่อนก็ได้” เช่นนี้เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อดังกล่าวเป็นเพียงการให้อำนาจแก่พนักงานตรวจแรงงานที่จะใช้ดุลพินิจในการออกคำเตือนไปยังนายจ้าง เมื่อเห็นว่านายจ้างกระทำการฝ่าฝืนต่อประกาศ แม้ในคำเตือนนั้นจะมีข้อความระบุว่าให้บริษัทโจทก์ผู้เป็นนายจ้างนำเงินค่าชดเชยไปมอบให้แก่ลูกจ้าง ณ กรมแรงงาน ภายในเวลากำหนด แต่ถ้าบริษัทโจทก์เห็นว่า บริษัทโจทก์มิได้ฝ่าฝืนต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย และไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่นายเฉลิมพร ภุมรินทร์ ลูกจ้าง บริษัทโจทก์ก็หาจำต้องปฏิบัติตามคำเตือนนี้ไม่ คำเตือนของจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดที่มีผลบังคับในกฎหมาย ทั้งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ก็มิได้ระบุกรณีนายจ้างฝ่าฝืนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานว่าเป็นความผิดทางอาญาส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานหรือไม่ เป็นข้อพิพาทระหว่างบริษัทโจทก์กับนายเฉลิมพร ภุมรินทร์ ลูกจ้างส่วนหนึ่ง ซึ่งจะต้องฟ้องร้องให้บังคับกันในทางแพ่ง หาได้เกี่ยวกับคำเตือนของจำเลยไม่ ฉะนั้นการที่จำเลยออกคำเตือนเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของบริษัทโจทก์ และไม่ใช่กรณีที่จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล บริษัทโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในข้อนี้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัย

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง”

Share