คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง (2) กำหนดให้ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมรดก เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นแล้ว เหตุแห่งการขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดกจึงหมดไปกรณีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกอีก
ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องปกปิดความจริงว่า ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายอีกคนหนึ่ง และยังมีทรัพย์มรดกอื่นที่ผู้ร้องมิได้ระบุมาในคำร้อง เมื่อผู้คัดค้านมิได้มีข้อเท็จจริงอื่นมาประกอบเพื่อให้รับฟังโดยชัดแจ้งว่า ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดทรัพย์มรดกและทายาท อันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ทำให้ผู้ร้องไม่ควรเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ทั้งคำร้องของผู้คัดค้านก็ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นปรากฏชัดแจ้งว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกไม่สามารถหรือละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ อันจะเป็นเหตุให้สมควรสั่งเพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมิให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1727
ข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำร้องคัดค้านมาแต่แรก เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็ยังถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคแรก
การที่ผู้คัดค้านขอให้ศาลสั่งแสดงว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมย่อมเป็นทายาทโดยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นอกจากมิได้มีกฎหมายบัญญัติรองรับให้ผู้คัดค้านใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้ในกรณีเช่นนี้แล้ว กรณีก็มิใช่ความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล เพราะหากผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมและทายาทโดยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจริง ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเช่นนั้นอยู่แล้ว หากมีผู้ใดโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านมิใช่บุตรบุญธรรมและทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาทได้

Share