คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีไม่ได้กำหนดเวลาและวงเงินไว้ จำเลยเดินสะพัดทางบัญชีมาจนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2515 หลังจากนั้นไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชี คงมีเพียงรายการดอกเบี้ยที่โจทก์คิดตามสัญญาตลอดมาจนถึงวันหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2517 แสดงว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดโดยปริยายในวันที่ 26 ธันวาคม 2517 โจทก์ย่อมบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2517 แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 เกินกำหนด 10 ปี คดีจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันต่อโจทก์ โดยจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินไปจากบัญชี และจะนำเงินสดหรือเช็คเข้าชำระหนี้หักทอนบัญชี หากโจทก์ผ่อนผันการจ่ายเงินไปก่อน จำเลยยินยอมชำระส่วนที่ผ่อนผันคืนแก่โจทก์และยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเป็นรายวันหากจำเลยไม่ชำระยินยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้าเป็นต้นเงินคิดดอกเบี้ยได้ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 487,534 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 94,889.44 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า มูลคดีเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2511 หรือวันที่ 26 ธันวาคม 2517 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 487,534 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 94,889.44 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันมิได้มีกำหนดเวลา อีกทั้งไม่ปรากฏการกำหนดวงเงินไว้ จากรายการแสดงบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีมาจนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2515 มียอดหนี้ 64,038.01 บาท หลังจากนั้น ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชี ดังจะเห็นได้จากโจทก์ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน, 20 กรกฎาคม และวันที่ 15 สิงหาคม 2515 ตามลำดับ และคงมีเพียงรายการดอกเบี้ยที่โจทก์คิดตามสัญญาตลอดมาจนถึงวันหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2517 ดังกล่าว ซึ่งมียอดหนี้ 94,889.44 บาท พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดโดยปริยายแล้วในวันที่ 26 ธันวาคม 2517 โจทก์ย่อมบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2517 แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 เกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คดีจึงขาดอายุความ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share