คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บริษัทจำกัดทำผิดวัตถุประสงค์ของบริษัท ก็ไม่ใช่เหตุที่จะปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237 ที่จะให้ศาลสั่งเลิกบริษัทได้ และแม้บริษัทจะเริ่มประกอบการค้าเกิน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนบริษัทก็ตามแต่มาตรา 1237 มิได้เป็นบทบังคับให้ศาลสั่งเลิกบริษัท เพียงแต่บัญยัติให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าสมควรสั่งให้เลิกบริษัทหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นชำระให้บริษัทจำเลยด้วยเงินสดและเช็คส่วนใหญ่ โจทก์ที่ 8ซึ่งเป็นกรรมการรักษาเงินเป็นคนเก็บรักษาและไม่ยอมมอบให้บริษัทจำเลยดังนั้น ที่บริษัทจำเลยไม่เริ่มทำการค้าภายใน 1 ปี อาจเป็นเพราะบริษัทจำเลยไม่มีทุนดำเนินการค้า จึงยังไม่สมควรที่จะสั่งเลิกบริษัทจำเลย
แม้บริษัทจำเลยจะขาดทุนมาทุกปะ แต่เมื่อรวมยอดขาดทุนแล้วก็เพียงร้อยละ 12 ขแงจำนวนทุนทั้งหมด และเหตุที่ขาดทุนเป็นเพราะโจทก์ที่ 8 กับบริษัทจำเลยมีข้อพิพาทฟ้องร้องกัน และเงินค่าหุ้นส่วนใหญ่อยู่ที่โจทก์ที่ 8ซึ่งไม่ให้ความร่วมมือโดยกักเงินค่าหุ้นไว้ เมื่อบริษัทจำเลยเรียกให้ชำระค่าหุ้นฝ่ายโจทก์ก็ไม่ยอมชำระ บริษัทจำเลยจึงไม่มีทุนดำเนินการค้าได้เต็มที่ อย่างไรก็ดีบริษัทจำเลยได้ซื้อหุ้นของบริษัทอื่นเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแสดงว่าบริษัทจำเลยยังมุ่งประกอบการค้าเพื่อให้ได้ผลกำไรอยู่ และมีลุ่ทางจะทำกำไรได้จึงย่อมไม่สมควรจะเลิกบริษัทจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ทั้ง 8 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทสยามสากลผลิตภัณฑ์ จำกัดซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทจำเลยฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัทจำเลยกับให้บริษัทจำเลยคืนเช็คค่าหุ้นแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า บริษัทจำเลยที่ 1 กำลังทำการค้าขายอยู่ ไม่มีเหตุที่จะเลิก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์ทั้ง 8 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ที่ 1 ถึง 7 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 โดยอ้างเหตุหลายประการ ข้อแรกอ้างเหตุว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ เดิมที่จะสร้างโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เป็นอย่างอื่นและการลงมติเปลี่ยนแปลงกระทำไปตามลำพัง ผู้ถือหุ้นฝ่ายจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าตามคำขอจดทะเบียนเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัทจำเลย เอกสารหมาย จ.14บริษัทสยามสากลผลิตภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นชื่อบริษัทจำเลยเดิมนั้น นอกจากมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าตามข้อ 3(1) ว่า “เพื่อทำโรงงานอุตสาหกรรมเช่นเส้นก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ” แล้วยังมีวัตถุประสงค์ตามข้อ 3(3) ว่า “เพื่อเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือลงทุนกับบุคคลกลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใด ซึ่งประกอบวิสาหกิจทางธุรกิจและอุตสาหกรรม ทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อรับผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยปริยาย” ด้วย ฉะนั้น การที่บริษัทจำเลยนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราและน้ำส้มสายชู จึงหาใช่เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยไม่ และการที่บริษัทจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้านั้นก็เป็นไปตามมติพิเศษในการประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยซึ่งดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัทจำเลยเอกสารหมาย จ.14 และบันทึกรายงานการประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2515เอกสารหมาย จ.15 อนึ่ง การที่บริษัททำผิดวัตถุประสงค์ก็มิใช่เหตุที่จะปรับตามบทบัญญัติมาตรา 1237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ดังที่โจทก์ฎีกา

ที่โจทก์ฎีกาอ้างเหตุข้อสองว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ได้ดำเนินการค้าภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนบริษัทนั้น ได้ความว่าโจทก์ที่ 8 เคยฟ้องบริษัทจำเลยและจำเลยที่ 2 โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันมาครั้งหนึ่งแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8512/2515 ของศาลแพ่ง คดีนั้นศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าบริษัทจำเลยได้ประกอบการค้าในต้นปี พ.ศ. 2515 แม้บริษัทจำเลยเริ่มประกอบการค้าเกิน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนบริษัทก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237 มิได้เป็นบทบังคับให้ศาลสั่งเลิกบริษัท เพียงแต่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะสั่งให้เลิกบริษัทได้หรือไม่ เมื่อปรากฏว่าเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นชำระให้บริษัทจำเลยด้วยเงินสดและเช็คส่วนใหญ่โจทก์ที่ 8 เป็นคนเก็บรักษาและไม่ยอมมอบให้บริษัทจำเลย ที่บริษัทจำเลยไม่เริ่มทำการค้าภายใน1 ปี อาจเป็นเพราะบริษัทจำเลยไม่มีทุนดำเนินการค้า จึงยังไม่สมควรที่จะสั่งเลิกบริษัทจำเลย (คำพิพากษาฎีกาที่ 2951/2517) สำหรับคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน

ส่วนเหตุข้อสุดท้ายที่โจทก์อ้างว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ทำการค้ามีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้นั้น เห็นว่าแม้บริษัทจำเลยจะขาดทุนมาทุกปี แต่เมื่อรวมยอดขาดทุนแล้วก็เพียงร้อยละ 12ของจำนวนทุนทั้งหมด และเหตุที่ขาดทุนเชื่อว่าเป็นเพราะโจทก์ที่ 8 และจำเลยที่ 2 กับบริษัทจำเลยมีข้อพิพาทฟ้องร้องกันอยู่หลายปี บริษัทจำเลยเพิ่งจะได้ทำการค้าเมื่อต้นปี พ.ศ. 2515 และเงินค่าหุ้นส่วนใหญ่อยู่ที่โจทก์ที่ 8 ผู้ถือหุ้นฝ่ายโจทก์ที่ 8 ไม่ให้ความร่วมมือโดยกักเงินค่าหุ้นกับเช็คค่าหุ้นไว้ เมื่อบริษัทจำเลยเรียกผู้ถือหุ้นให้ชำระค่าหุ้นให้ครบ ฝ่ายโจทก์ก็ไม่ยอมชำระบริษัทจำเลยไม่มีทุนดำเนินการค้าได้เต็มที่ คงมีแต่เงินค่าหุ้นของผู้ถือหุ้นอื่นมาทำการค้า อย่างไรก็ดีได้ความว่าบริษัทจำเลย ซื้อหุ้นของบริษัทไทยสามพราน จำกัด ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสุราของบริษัทสุวรรณภูมิจำกัดและซื้อหุ้นของบริษัทไทยอินเตอร์เนชั่นแนลเอนเตอร์ไพรส์ จำกัดกับบริษัทไทยอินเตอร์เนชั่นแนลน้ำส้มสายชู จำกัด ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำส้มสายชู แสดงว่าบริษัทจำเลยยังมุ่งประกอบการค้าเพื่อให้ได้ผลกำไรอยู่ และมีลู่ทางที่จะทำกำไรได้ จึงยังไม่สมควรที่จะสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 1ฎีกาของโจทก์ในประเด็นข้ออื่นไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไม่จำต้องวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share