แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์และป. น้องชายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของท.เจ้ามรดกหลังจากท. ตายโจทก์และป.ไปขอรับมรดกที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่จำเลยได้ไปยื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินดังกล่าวก่อนแล้ว โดยอ้างพินัยกรรมซึ่งเป็นพินัยกรรมปลอมทำให้โจทก์ไม่สามารถรับมรดกได้ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วไม่จำต้องบรรยายฟ้องด้วยว่าพินัยกรรมของจำเลยปลอมที่ไหน เมื่อใด ปลอมทั้งฉบับหรือปลอมบางส่วน ซึ่งเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมปลอม ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยต่อสู้ว่าพินัยกรรมดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์เมื่อราคาทรัพย์หรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนายประเสริฐ มุขแจ้ง เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายทอง มุขแจ้ง ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24พฤศจิกายน 2530 มีทรัพย์มรดกที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 883 และเลขที่ 886 ทั้งสองแปลงอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิรามจังหวัดพิษณุโลก โจทก์และนายประเสริฐได้ไปขอรับมรดกต่อสำนักงานที่ดินอำเภอพรหมพิราม แต่ไม่สามารถรับมรดกได้เนื่องจากจำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำปลอมขึ้นซึ่งพินัยกรรมลงวันที่ 18 ตุลาคม 2530อ้างว่าเป็นพินัยกรรมของนายทองไปรับมรดกที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 883 และ 886 ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอพรหมพิราม เป็นเหตุให้โจทก์และนายประเสริฐไม่สามารถรับมรดกดังกล่าวและขาดประโยชน์ในทรัพย์มรดกปีละ 10,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอม ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในที่ดินข้างต้นและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกเกี่ยวข้องในที่ดินมรดก
จำเลยให้การว่า โจทก์และนายประเสริฐมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของนายทอง มุขแจ้ง เพราะนางสายบัว มุขแจ้ง มารดาโจทก์มิได้จดทะเบียนสมรสกับนายทอง และไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย พินัยกรรมลงวันที่ 18 ตุลาคม 2530ตามฟ้องเป็นพินัยกรรมถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายทอง ไม่มีส่วนได้เสีย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่เสียหาย ค่าเสียหายอย่างมากไม่เกินปีละ 1,000 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายอย่างไรและกระทำปลอมพินัยกรรมที่ใด เมื่อใด วิธีใด อย่างไร ปลอมส่วนใดหรือปลอมทั้งฉบับ ทำให้จำเลยไม่เข้าใจ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษากลับว่า พินัยกรรมของนายทอง มุขแจ้ง ฉบับลงวันที่ 18ตุลาคม 2530 เวลา 11.20 นาฬิกา ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมพิมพ์ลายนิ้วมือแทนการลงลายมือชื่อเอกสารหมาย ล.1 และ ล.3 ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์และนายประเสริฐ มุขแจ้ง น้องชายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทอง มุขแจ้ง เจ้ามรดก หลังจากนายทองตาย โจทก์และนายประเสริฐไปขอรับมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ 2 แปลง ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่ปรากฏว่าจำเลยได้ไปยื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวก่อนแล้วโดยอ้างพินัยกรรมตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ซึ่งเป็นพินัยกรรมปลอม การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่สามารถรับมรดกที่ดินดังกล่าวได้ คำฟ้องของโจทก์ดังนี้เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า พินัยกรรมของจำเลยปลอมที่ไหน เมื่อใด ปลอมทั้งฉบับหรือปลอมบางส่วนนั้น เห็นว่าเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาจำเลยมีว่า โจทก์และนายประเสริฐเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายทองและมีสิทธิได้รับมรดกของนายทองหรือไม่ และพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2530เอกสารหมาย ล.1 และ ล.3 เป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมปลอม ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 883 และ 886 ตามฟ้อง และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยต่อสู้ว่าพินัยกรรมดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาทรัพย์หรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคแรก เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่า โจทก์และนายประเสริฐเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของนายทอง และพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2530 เอกสารหมาย ล.1 และ ล.3ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย เช่นนี้ ฎีกาจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน