แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยักยอกเงินที่ได้จากการจำหน่ายตราไปรษณียากรซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยไป แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยได้จำหน่ายตราไปรษณียากรดังกล่าวไปแล้วยักยอกเอาเงินที่จำหน่ายไปเป็นของจำเลย จำเลยอาจยักยอกเอาตราไปรษณียากรไปเพื่อจำหน่ายในภายหลังก็ได้ จึงลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงส่วนนี้ไม่ได้ และจำเลยไม่ต้องใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่ผู้เสียหาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ยักยอกเงินที่ได้รับจากประชาชนมาใช้บริการ และได้จากการจำหน่ายตราไปรษณียากรซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลเก็บรักษาของจำเลยไปขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 147, 157, 352 และให้จำเลยคืนเงิน 234,367.88 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 147,157 รวม 2กระทง ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกกระทงละ 10 ปีรวมจำคุก 20 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 15 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 234,364.88 บาท แก่ผู้เสียหายข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เพียงกรรมเดียว จำคุก 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 7 ปี 6 เดือนให้จำเลยคืนเงิน 126,614.38 บาทแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย 2 กระทง กับให้จำเลยคืนเงิน234,367.88 บาท
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำผิดกระทงเดียว แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า “สำหรับตราไปรษณียากรจำนวน 7,753.50 บาทนั้นโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยได้จำหน่ายไปแล้วเบียดบังยักยอกเอาเงินที่จำหน่ายไปเป็นของจำเลยดังที่โจทก์ฟ้องและฎีกาจำเลยอาจยักยอกเอาตราไปรษณียากรไปเพื่อจำหน่ายในภายหลังดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงส่วนนี้ไม่ได้ และจำเลยไม่ต้องใช้เงินจำนวนนี้คืนแก่ผู้เสียหาย จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา…”
พิพากษายืน