คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6720/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5 กำหนดให้บุคคลใดก็ตาม ที่กระทำการตามองค์ประกอบความผิดในมาตรานี้เป็นผู้กระทำความผิด ไม่ได้กำหนดเป็นการเฉพาะแต่เพียงว่าผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินเท่านั้น เมื่อจำเลยกับพวกในฐานะตัวแทนของบริษัท ท. ได้กระทำการในการจะกู้ยืมเงินด้วยการโฆษณา หรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป และจำเลยกับพวกจ่ายหรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าวว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้บริษัท ท. กู้ยืมเงินในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ และจำเลยกับพวกไม่ได้พิสูจน์ว่ามีข้อยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยกับพวกจึงมีความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 16 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่สามว่าจำเลยที่ 17 และที่ 18 และจำเลยในสำนวนที่สี่ว่าจำเลยที่ 19 ตามลำดับ แต่คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสำนวนที่ 1 และที่ 3
คดีทั้งสี่สำนวนโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง มีใจความทำนองเดียวกันว่า ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเก้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 2, 4, 5, 9, 12, 15 และให้จำเลยทั้งสิบเก้าร่วมกันคืนเงินจำนวน 131,101,354 บาท พร้อมทั้งจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้เสียหาย และเพิ่มโทษจำเลยที่ 16 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสิบเก้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 16 หลบหนี ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 16 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 15 ที่ 17 และที่ 18 มีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 12 วางโทษจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 12 และผิดตามมาตรา 5, 12 ประกอบด้วยมาตรา 15 แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวต้องด้วยบทบัญญัติแห่งความผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษตามมาตรา 5, 12 ประกอบด้วยมาตรา 15 เพียงบทเดียว จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้คนละ 8 ปี และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 10 ที่ 19 คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 15 ที่ 17 และที่ 18 อุทธรณ์ ก่อนพ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 จากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์พิพาทษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 15 ที่ 17 และที่ 18 ในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 และ 12 และสำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 12 และ 15 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 12 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 12 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 12 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 และที่ 18 ไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ระหว่างที่บริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ดินเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2532 มีบุคคลอื่นซึ่งมิใช่จำเลยดังกล่าวเป็นผู้เริ่มก่อการเป็นกรรมการและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันบริษัท ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2533 มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการโดยตั้งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งในจำนวนกรรมการบริษัท 12 คน ส่วนสำนักงานของบริษัทตั้งอยู่เลขที่ 19/17 หมู่ที่ 1 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และมีการจดทะเบียนย้ายสำนักงานบริษัทครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ไปอยู่เลขที่ 238 อาคารอโยธยาธานี ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุคดีนี้ บริษัทที่ดินเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ดำเนินการโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าว ชักชวนบุคคลทั่วไปจำนวนเกินกว่าสิบคนขึ้นไปซึ่งรวมทั้งเจ้าหนี้ของบริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด ให้นำเงินมาร่วมลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท นำเงินมาให้บริษัทกู้ยืม และให้เจ้าหนี้ของบริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด ถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแล้วนำสิทธิเรียกร้องของหนี้ดังกล่าวมาร่วมลงทุนกับบริษัทในลักษณะดังกล่าว โดยบริษัทตกลงจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้เกินกว่าร้อยละ 18 ต่อปี อันเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ และบริษัทจัดให้มีผู้รับเงินในการกู้ยืมเงินในแหล่งต่าง ๆ กับจัดให้มีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเป็นผู้ไปชักชวน อ้างว่าบริษัทดำเนินธุรกิจด้วยการสะสางหนี้ของบริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด เพื่อนำที่ดินและทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวมาประกอบธุรกิจต่อไป ทั้ง ๆ ที่ความจริงบริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจดังกล่าว และไม่สามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ให้กู้ยืมเงินในอัตราดังกล่าวได้ ทำให้ผู้เสียหายที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด ถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย นำสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาตีราคาเข้าเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินหรือร่วมลงทุนกับบริษัทแทน และทำให้ผู้เสียหายอีกจำนวนหนึ่งนำเงินมาร่วมลงทุนและให้บริษัทกู้ยืม รวมเป็นผู้เสียหาย 415 คน โดยบริษัทได้ไปซึ่งสิทธิเรียกร้องและเงินจากผู้เสียหายแต่ละคนในวันเวลาและจำนวนเงินกู้เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 131,101,354 บาท หลังจากนั้นบริษัทนำเงินดังกล่าวเพียงบางส่วนมาหมุนเวียนจ่ายเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ให้แก่ผู้เสียหายเหล่านั้นบางคน แล้วปิดสำนักงานของบริษัทโดยไม่ได้คืนเงินต้นจำนวนดังกล่าวที่ได้ไปให้แก่ผู้เสียหาย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 และที่ 18 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ขณะเกิดเหตุคดีนี้บริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด มีที่ดิน 480 ไร่ มีอาคารที่ก่อสร้างเพื่อจำหน่าย 700 ถึง 800 หลัง กับมีที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาอีก 240 ไร่ อันเป็นทรัพย์สินจำนวนมาก อาคารที่ตั้งบริษัทที่ดินเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด มีความใหญ่โตโอ่อ่า บริษัทดำเนินกิจการโดยเปิดเผย ภายในสำนักงานบริษัทแสดงแบบโครงการสร้างคอนโดมิเนียมให้ประชาชนผู้ติดต่อได้เห็น ประกอบกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 กับที่ 13 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้บริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด ต่างก็ได้ถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายมาซื้อหุ้นบริษัทที่ดินเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด อีกทั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 และที่ 18 แต่ละคนต่างก็ได้ซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวไว้เป็นจำนวนมาก การที่จำเลยทุกคนดังกล่าวเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทเพื่อสะสางหนี้ของบริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด เพื่อนำทรัพย์สินจำนวนมากดังกล่าวมาประกอบธุรกิจ จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 และที่ 18 ต่างไม่รู้ว่าบริษัทดังกล่าวดำเนินกิจการในทำนองฉ้อโกงประชาชน จำเลยทุกคนดังกล่าวจึงไม่มีเจตนาร่วมกับบริษัทดังกล่าวนั้นในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามฟ้อง แต่โดยเหตุที่บริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย ดังนั้น ภายหลังจากสะสางหนี้ของบริษัทนี้แล้วย่อมคาดหมายได้ว่ามีทรัพย์สินเหลือไม่มากนัก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 และที่ 18 จึงควรรู้อยู่แล้วว่าบริษัทที่ดินเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ไม่สามารถประกอบกิจการสะสางหนี้ดังกล่าวให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายแก่ผู้เสียหายหรือผู้ให้กู้ยืมเงินในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ดังนั้น การที่จำเลยทุกคนดังกล่าวโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน บริษัทที่ดินเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่จำเลยเหล่านี้ควรรู้อยู่แล้วถึงเหตุดังกล่าว เป็นเหตุให้บริษัทที่ดินเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ได้กู้ยืมเงินไป จำเลยทุกคนดังกล่าวจึงมีความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ และโดยที่บทกำหนดความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5 กำหนดให้บุคคลใดก็ตามที่ได้กระทำการตามองค์ประกอบความผิดในมาตรานี้เป็นผู้กระทำความผิด มิได้กำหนดเป็นการเฉพาะแต่เพียงว่าผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยทุกคนดังกล่าวในฐานะตัวแทนของบริษัทที่ดินเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ได้กระทำการในการจะกู้ยืมเงินด้วยการโฆษณา หรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป และจำเลยทุกคนดังกล่าวจ่ายหรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าวว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้บริษัทกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยจำเลยทุกคนดังกล่าวไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ากิจการของบริษัทที่อ้างถึงนั้นสามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายตามที่ได้กล่าวอ้างไว้ หรือเหตุที่ไม่อาจให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงเกิดจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผิดปกติอันไม่อาจคาดหมายได้ หรือมีเหตุอันสมควรอย่างอื่นกรณีใดกรณีหนึ่ง การกระทำของจำเลยทุกคนดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5 (1) (2) (ก) อีกบทหนึ่งด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทุกคนดังกล่าวร่วมกันคืนเงิน 131,101,354 บาท แก่ผู้เสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83 นั้น เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยทุกคนดังกล่าวกระทำความผิดตามบทกฎหมายนั้น ทั้งจำเลยทุกคนดังกล่าวรับเงินจากผู้เสียหายไว้ในฐานะตัวแทนของบริษัทที่ดินเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด แล้วนำไปมอบให้แก่บริษัทแล้ว จำเลยทุกคนดังกล่าวจึงไม่ต้องร่วมรับผิดคืนเงินจำนวนนั้นแก่ผู้เสียหาย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2545 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ที่ใช้ในขณะกระทำความผิดโดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่บทบัญญัติตามกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทุกคนดังกล่าวจึงไม่นำมาปรับแก่คดี
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 และที่ 18 มีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 (เดิม), 5, 12 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ลงโทษตามมาตรา 5, 12 เพียงบทเดียว จำคุกคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share