แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลักฐานการจดทะเบียนเป็นหลักฐานสำคัญเพราะสัญญาขายฝากจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเมื่อปรากฏตามเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและหน้าโฉนดว่า การขายฝากมีกำหนดเวลา 4 เดือน แม้ตัวสัญญาขายฝากจะมิได้กรอกกำหนดเวลาลงไป ก็ฟังได้ว่าการขายฝากมีกำหนดเวลา โจทก์ขอไถ่เมื่อพ้นกำหนดแล้วจึงไถ่ไม่ได้
เมื่อศาลรับฟังพยานเอกสารที่จำเลยอ้างคือเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโฉนดที่ดิน เชื่อว่าคู่สัญญากำหนดเวลาขายฝากไว้มีกำหนดเวลา 4 เดือน จึงมิใช่เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสารสัญญาขายฝาก และไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 14994 ไว้กับจำเลยในราคา 45,000 บาท โดยไม่มีกำหนดเวลาไถ่คืน ต่อมาเดือนกันยายน 2517 โจทก์ขอไถ่ที่ดินดังกล่าวคืน จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ ขอให้บังคับจำเลยรับไถ่ที่ดิน ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า การขายฝากที่พิพาทมีกำหนดเวลาไถ่ 4 เดือน โจทก์ขอไถ่เมื่อเลย 4 เดือนแล้ว จึงไม่มีสิทธิไถ่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษากลับให้จำเลยรับไถ่ที่พิพาทจากโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อ พ.ศ. 2514 โจทก์ได้เอาที่พิพาทขายฝากกับจำเลยครั้งหนึ่งแล้วในราคา 40,800 บาท มีกำหนดเวลาไถ่ภายใน 1 ปี ครบ 1 ปีแล้วโจทก์ไถ่ที่พิพาท แต่ในวันเดียวกันนั้นก็กลับขายฝากที่พิพาทไว้กับจำเลยอีกในราคา 45,000 บาท ปรากฏตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินลงวันที่ 3 มีนาคม 2515 เอกสารหมาย จ. 2 ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ตามเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเอกสารหมาย ล.2 หนังสือสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.2 เป็นแบบพิมพ์ของสำนักงานที่ดินสัญญาข้อ 1 ระบุว่า “ผู้ขายฝากตกลงขายฝากที่ดินแปลงที่กล่าวข้างบนนี้แก่ผู้รับซื้อฝากมีกำหนด ……ปี” กำหนดเวลาขายฝากตามสัญญาข้อนี้เว้นว่างไว้ไม่ได้กรอกข้อความ แต่ตามเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมระบุว่า ขายฝากมีกำหนด 4 เดือน และตามสารบัญจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในโฉนดที่ 14994 เอกสาร ล.1 ระบุว่าขายฝากมีกำหนด 4 เดือนเช่นกันและวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าสัญญารายนี้มีกำหนดเวลาหรือไม่ว่า หลักฐานการจดทะเบียนเป็นหลักฐานสำคัญ เพราะสัญญาขายฝากจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว เมื่อปรากฏตามเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหน้าโฉนดว่า การขายฝากรายนี้มีกำหนดเวลา 4 เดือน แม้ตัวสัญญาขายฝากจะมิได้กรอกกำหนดเวลาลงไป ก็ฟังได้ว่าการขายฝากรายนี้มีกำหนดเวลา โจทก์ขอไถ่เมื่อพ้นกำหนดแล้วจึงไถ่ไม่ได้ ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสารสัญญาขายฝาก เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่นั้นว่า ข้อนี้เห็นว่าเมื่อศาลรับฟังพยานเอกสารที่จำเลยอ้าง คือเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โฉนดที่ดินเชื่อว่าคู่สัญญากำหนดเวลาขายฝากไว้มีกำหนด 4 เดือน จึงไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสารดังกล่าว
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์