แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 พูดทำนองจะฆ่าจำเลยที่ 1 ว่า “มึงตายเสียเถอะไอ้อู๋” และชักปืนออกมาก่อน แม้จะยังไม่ทันได้ยิงเพราะถูกผู้อื่นตบแขน แต่ปืนก็ยังอยู่ในมือประกอบกับห้างนาที่เกิดเหตุกว้างเพียง 4 เมตร ยาว 6 เมตร นับว่าอยู่ในระยะประชิดตัวกัน ดังนี้จำเลยที่ 1 จำต้องยิงจำเลยที่ 2 เพื่อป้องกันตัวได้แต่การที่จำเลยทั้งสองยิงกันหลายนัด จำเลยที่ 2 มีบาดแผลถูกกระสุนปืนที่ด้านหลังและที่ใต้รักแร้ แพทย์ผู้ตรวจและรักษาว่าถูกยิงข้างหลังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันตัวเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ได้ทะเลาะวิวาทและใช้อาวุธปืนยิงกันและกันโดยมีเจตนาฆ่า กระสุนปืนที่จำเลยที่ ๑ ยิงถูกจำเลยที่ ๒ ที่บริเวณแผ่นหลังและใต้รักแร้ ส่วนกระสุนปืนที่จำเลยที่ ๒ ยิงจำเลยที่ ๑ ถูกที่บริเวณเหนือข้อเท้า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เพราะกระสุนปืนถูกอวัยวะส่วนที่ไม่สำคัญของร่างกายและแพทย์รักษาทันท่วงที จำเลยทั้งสองจึงไม่ถึงแก่ความตาย บาดแผลปรากฏตามรายงานชันสูตรท้ายฟ้อง เจ้าพนักงานได้หัวกระสุนปืน ๒ หัวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๘๐ จำคุกคนละ ๑๓ ปี ๔ เดือน ของกลางริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำเบิกความของนายฉลอมและนายอุดรเบิกความต้องคำกันว่า จำเลยที่ ๒ เป็นฝ่ายก่อเหตุและชักปืนออกมาก่อน แม้จะไม่ทันได้ยิงเพราะถูกนายอุดรตบแขน แต่ปืนก็ยังอยู่ในมือของจำเลยที่ ๒ ประกอบกับห้างนาที่เกิดเหตุกว้างเพียง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร นับว่าอยู่ในระยะประชิดตัวกัน การที่จำเลยที่ ๒ พูดทำนองจะฆ่าว่า “มึงตายเสียเถอะไอ้อู๋” และชักปืนออกมาแล้ว จำเลยที่ ๑ จำต้องยิงจำเลยที่ ๒ เพื่อป้องกันตัวได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยิงกันหลายนัด และจำเลยที่ ๒ มีบาดแผลถูกกระสุนปืนที่ด้านหลังและที่ใต้รักแร้ แพทย์หญิงวไล คงคา มีพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจและรักษาเบิกความว่าจำเลยที่ ๒ ถูกยิงข้างหลัง การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการป้องกันตัวเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ ประกอบด้วยมาตรา ๖๙ จำคุก ๒ ปี แต่มีเหตุอันควรปราณีเพราะมิใช่เป็นฝ่ายก่อเหตุ จึงให้รอการลงโทษไว้ภายในกำหนด ๓ ปี ตามมาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์