แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีความผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า ภาพยนตร์ตามฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย แต่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องเลยว่ากฎหมายของประเทศนั้นให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้อง โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “ปัญหามีว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 42 บัญญัติว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆแห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฯลฯ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าภาพยนตร์ของโจทก์ตามฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายฮ่องกงซึ่งเป็นประเทศในอารักขาของสหราชอาณาจักรที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นภาคีอยู่ด้วย ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 แต่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องเลยว่ากฎหมายของประเทศฮ่องกงหรือของประเทศสหราชอาณาจักรได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆแห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์ตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน