แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและผิดวินัยตามระเบียบของจำเลยโดยทุจริตและจงใจทำให้จำเลยเสียหาย การเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ ศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าเป็นเพราะเหตุใด และเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ส่วนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนจะชอบด้วยระเบียบของจำเลยหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับการที่ศาลจะวินิจฉัยในกรณีนี้ การที่ศาลแรงงานกลางเพียงแต่ฟังคำแถลงด้วยวาจาของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นการแถลงของแต่ละฝ่ายโดยอีกฝ่ายมิได้ยอมรับข้อเท็จจริงด้วย แล้วมีคำสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยว่าการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนไม่ชอบด้วยระเบียบของจำเลย การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เป็นเรื่องที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมและเหตุอื่น ๆอีกหลายประการซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ประพฤติและปฏิบัติงานไม่ชอบหลายประการ จนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงไม่มีหน้าที่จ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนไม่ชอบด้วยระเบียบว่าด้วยการสอบสวนพนักงานพ.ศ. 2521 การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยเสียหาย ฯลฯ ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 1ไว้ว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญา จงใจทำให้จำเลยเสียหายปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยหรือไม่ ดังนั้น การวินิจฉัยคดีในประเด็นข้อ 1 จึงจำเป็นที่ศาลแรงงานกลางต้องฟังข้อเท็จจริงให้ได้เสียก่อนว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และกระทำการต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดเป็นประเด็นไว้หรือไม่ ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางเพียงแต่ฟังคำแถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาลของนายศิรัตน์ ธำรงรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของจำเลย3 นัด ฟังคำแถลงด้วยวาจาของนายสมเกียรติ ศุขเทวา ผู้อำนวยการฝ่ายพนักงานของจำเลย 1 นัดแล้วฟังคำแถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาลของตัวโจทก์ 8 นัด ซึ่งการแถลงของแต่ละฝ่ายเป็นการแถลงด้วยวาจาฝ่ายเดียวพร้อมทั้งส่งเอกสารต่อศาล ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งหาได้ยอมรับข้อเท็จจริงด้วยไม่ แล้วศาลแรงงานกลางจดรายงานว่า ศาลพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน สั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษาคดีไปโดยศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพียงว่า การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนไม่ชอบด้วยระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการสอบสวนพนักงาน พ.ศ. 2521 ข้อ 19 ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือโจทก์ตามระเบียบ คำสั่งที่ ว. 29/2530 เรื่องให้พนักงานออกจากงาน จึงไม่ชอบ และไม่เป็นธรรมด้วย การดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดคดีเช่นว่านี้หาเป็นการถูกต้องไม่ เพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ศาลจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างให้ได้เสียก่อนว่าเป็นเพราะเหตุใด จากนั้นจึงจะวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เช่นนี้จึงจะชอบด้วยความเป็นธรรม สำหรับเรื่องการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนจะชอบด้วยระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการสอบสวนพนักงาน พ.ศ. 2521 ของจำเลยหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับการที่ศาลจะวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยการพิจารณาพิพากษามีเหตุสมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางทำการสืบพยานตามประเด็นที่กำหนดไว้แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปความ