คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1440/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อหุ้นของบริษัท ป.จากโจทก์ โดยโจทก์รับรองว่าจะช่วยเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ของบริษัทให้การที่จำเลยห้ามธนาคารมิให้ ใช้เงินตามเช็คพิพาทซึ่งจำเลยสั่งจ่ายให้โจทก์เป็นค่าซื้อหุ้นดังกล่าว เพราะจำเลยจะต้องตรวจสอบบัญชีลูกหนี้ซึ่งมี รายละเอียดไม่สมบูรณ์ถึง 158 รายการ ที่โจทก์จะต้องไปเรียกเก็บ เงินให้จำเลยเสียก่อน ถือว่าไม่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยซื้อหุ้นของบริษัทประมงยานนาวา จำกัด 1,998 หุ้น ในจำนวนหุ้นทั้งหมด 2,000 หุ้นจากโจทก์ ปรากฏตามสัญญาซื้อขายหุ้นเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 มีเงื่อนไขว่า จำเลยต้องชำระค่าหุ้นที่ซื้อให้โจทก์ในราคาหุ้นละ 1,000บาท และต้องจ่ายเงิน 2,000,000 บาทให้โจทก์เพื่อนำไปชำระหนี้ของบริษัทอีกด้วย ในวันที่ 31 สิงหาคม 2526 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาจำเลยออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางนา ลงวันที่ทำสัญญา สั่งจ่ายเงิน 200,000 บาท 1 ฉบับ และในวันดังกล่าวจำเลยยังออกเช็คธนาคารเดียวกัน ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2526 สั่งจ่ายเงิน2,298,000 บาท กับเช็คอีก 3 ฉบับ รวมทั้งเช็คพิพาท ลงวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2527 วันที่ 1 มีนาคม 2527 และวันที่ 1 เมษายน 2527ตามลำดับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ ในการนี้โจทก์ได้มอบบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้ของบริษัทเอกสารหมาย จ.7 ให้จำเลยไว้โดยโจทก์จำเลยลงชื่อกำกับในบัญชีไว้ทุกแผ่น ซึ่งตามบัญชีดังกล่าวบริษัทมีลูกหนี้อยู่ 5,717,920.84 บาท มีเจ้าหนี้อยู่828,156.25 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังมอบบัญชีทรัพย์สิน ลูกหนี้เจ้าหนี้ของบริษัท เอกสารหมาย ล.1 และโอนการบริหารกิจการของบริษัทให้จำเลยกับพวกเป็นผู้ดำเนินการตามรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารหมาย ล.2 อีกด้วย ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยกระทำผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ก่อนจะรับโอนหุ้น จำเลยได้บอกแก่โจทก์ว่าไม่มีเงินพอชำระค่าหุ้นประมาณเดือนตุลาคม 2526 จำเลยโอนหุ้นของบริษัท 300 หุ้น ราคา300,000 บาทกลับคืนให้โจทก์ และหลังจากโจทก์โอนหุ้นและกิจการบริหารบริษัทให้จำเลยแล้ว โจทก์ยังมาแนะนำการบริหารงานให้จำเลยและยังพิมพ์สัญญาขายหุ้นจำนวนหนึ่งที่จำเลยขายให้บุคคลอื่นรวมทั้งอยู่รู้เห็นในการทำสัญญานั้นด้วย ได้ความต่อไปอีกว่า เช็คฉบับแรกที่สั่งจ่ายเงิน 200,000 บาท และฉบับที่ 2 ที่สั่งจ่ายเงิน 2,298,000บาท โจทก์นำไปขึ้นเงินได้ คงถูกปฏิเสธการจ่ายเงินเฉพาะเช็คฉบับหลัง2 ฉบับซึ่งเป็นเช็คพิพาทคดีนี้ฉบับหนึ่ง ในเรื่องนี้นายวิสุทธิ์เหลี่ยมรังสี ผู้จัดการธนาคารตามเช็คเบิกความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดสิทธิพรเอ็นจิเนียริ่ง ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารในวงเงิน 600,000 บาท จำเลยได้รับมอบอำนาจจากห้างฯ ดังกล่าวให้เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีของห้างฯได้ ทางธนาคารยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินวงเงินนี้ได้โดยเฉพาะตามบัญชีกระแสรายวันของห้างฯ เอกสารหมาย ล.3 ในวันที่ 12 ตุลาคม2526 ห้างฯ เป็นหนี้ธนาคารอยู่ 1,427,469.98 บาท และในวันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดคือวันที่ 1 มีนาคม 2527 ห้างฯ เป็นหนี้ธนาคารอยู่583,826.87 บาทตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.10 แต่ในเรื่องนี้ นายวิสุทธิ์และนางพิมพ์จิต อุ่ยระพันธ์ สมุห์บัญชีธนาคารซึ่งเป็นพยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องกันว่า ในวันดังกล่าวแม้จะเกินวงเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างฯ หากจำเลยไม่สั่งให้ระงับการจ่าย ทางธนาคารก็จะจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์ได้และนายวิสุทธิ์เบิกความว่า ในกรณีที่ลูกค้ามีข้อตกลงกับธนาคารให้เบิกเงินเกินบัญชีได้ และมีเช็คสั่งจ่ายมาเกินจากวงเงิน ธนาคารจะติดต่อผู้สั่งจ่ายก่อน ถ้าผู้สั่งจ่ายขอให้จ่ายเงินธนาคารก็จะจ่ายให้ ถ้าผู้สั่งจ่ายไม่ให้จ่าย ธนาคารก็จะไม่จ่าย และจะปฏิเสธด้วยเหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร เกี่ยวกับเช็คพิพาทธนาคารได้ติดต่อไปยังจำเลยแล้ว จำเลยแจ้งไม่ให้จ่าย ดังนั้น แม้ธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นหลักฐานว่า ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร แต่เหตุผลที่ธนาคารปฏิเสธตามข้อเท็จจริงก็คือจำเลยห้ามธนาคารมิให้ใช้เงิน ซึ่งพยานทั้งสองเบิกความถึงเหตุที่จำเลยห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คว่า เนื่องจากจำเลยแจ้งว่ายังต้องมีการตกลงกันเกี่ยวกับหนี้สินทางการค้ากับโจทก์อยู่ตรงตามที่จำเลยนำสืบ ส่วนปัญหาที่จะต้องตกลงกับโจทก์ดังกล่าว ปรากฏตามบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้เอกสารหมาย จ.7 จำนวน 6 หน้ากระดาษ รวม 158 รายการ ที่โจทก์มอบให้จำเลยไปซึ่งเป็นรายการลูกหนี้เจ้าหนี้ ระบุแต่จังหวัดและชื่อลูกหนี้เจ้าหนี้ โดยมีแต่ชื่อยี่ห้อทางการค้าบ้างชื่อบุคคลที่ไม่ระบุนามสกุลบ้าง ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับที่อยู่ของลูกหนี้เจ้าหนี้จำเลยย่อมไม่รู้จักและสามารถเรียกเก็บหนี้ของบริษัทจากลูกหนี้เพื่อนำมาชำระค่าหุ้นให้โจทก์และหรือนำไปชำระหนี้ของบริษัทได้ จึงมีเหตุให้เชื่อได้ตามที่โจทก์เบิกความว่าหลังขายหุ้นแล้วได้เข้าไปช่วยแนะนำจำเลยเกี่ยวกับการบริหารงานของบริษัทก็โดยโจทก์รับรองกับจำเลยว่าจะช่วยเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ของบริษัทให้ จำเลยจึงยอมรับซื้อหุ้นจากโจทก์ดังนั้น การที่จำเลยห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คพิพาท มีเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยจะต้องตรวจสอบบัญชีลูกหนี้ที่โจทก์จะต้องไปเรียกเก็บให้จำเลยเสียก่อน ไม่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดดังโจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share