คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1280/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละตอนกันเมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านว่าการสอบสวนไม่ชอบ ย่อมถือว่าการสอบสวนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ว่าการจับกุมจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายก็ไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ ฎีกาของจำเลยถือได้ว่าเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดี
วันเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โทรศัพท์ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตนโดยพูดขู่เข็ญว่าจะนำเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตามข่าวในหนังสือพิมพ์ ม. ไปอภิปรายในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทำอันตรายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัท ท. ซึ่งมี ป. เป็นประธานกรรมการบริษัทและมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสด 1,000,000 บาท กับรถยนต์กระบะ 1 คันแก่จำเลยตามที่ต่อรองตกลงกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก
ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ มีหน้าที่ควบคุมการบริหารงานราชการแผ่นดินของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีโดยการอภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของรัฐมนตรีนั้น ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ซึ่งใช้บังคับในช่วงเกิดเหตุในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จำเลยมีสิทธิที่จะนำเรื่องที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ในทำนองว่าผู้บริหารบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปอภิปรายในรัฐสภาโดยอภิปรายถึงการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งการอภิปรายจะต้องเชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารของบริษัท ท. แต่เรื่องที่จำเลยจะนำไปอภิปรายจะต้องเป็นความจริงหรือจำเลยเชื่อว่าเป็นความจริงจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่นำความอันเป็นเท็จไปอภิปรายในรัฐสภาได้ การที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าที่จำเลยพูดขู่เข็ญโจทก์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท.ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยแกล้งกล่าวหาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมให้เงินและรถยนต์แก่จำเลยเพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภา กรณีตามคำฟ้องไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐได้พบเห็นหรือรู้เห็นความผิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับสินบนจากผู้บริหารของบริษัท ท. ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วจำเลยใช้เหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อรองเรียกรับทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมโดยมิชอบ เพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภาตามตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149, 337

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายสมจิตต์ เศรษฐิน ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149, 337 (ที่ถูกมาตรา 337 วรรคแรก) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 15 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2533 เวลาประมาณ 13 นาฬิกาจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีได้ไปพบนายประสิทธิ์ ทรัพย์สาคร ประธานกรรมการบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์จำกัด และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรเขยของนายประสิทธิ์ที่สำนักงานของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด นายประสิทธิ์และโจทก์ร่วมได้มอบรถยนต์กระบะแบบตรวจการณ์ 1 คัน พร้อมด้วยเอกสารชุดโอนทะเบียนรถ1 ชุด กล่องของขวัญ 1 กล่อง และถุงกระดาษของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบรรจุสิ่งของอีก 1 ถุง ให้แก่จำเลย โดยนายประสิทธิ์ได้ให้โจทก์ร่วมถือกล่องของขวัญกับเอกสารชุดโอนทะเบียนรถดังกล่าวไปส่งมอบให้จำเลยที่รถยนต์กระบะที่เตรียมไว้ให้จำเลยซึ่งจอดอยู่ในบริเวณบ้านนายประสิทธิ์ที่ด้านหลังสำนักงานของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ส่วนถุงกระดาษใส่สิ่งของอีก 1 ถุง จำเลยได้ถือไปขึ้นรถเอง เมื่อจำเลยขับรถยนต์กระบะดังกล่าวออกจากบ้านนายประสิทธิ์ได้ประมาณ 50 เมตร ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมมาดำเนินคดีนี้ สำหรับข้อที่จำเลยนำสืบและฎีกาโต้แย้งว่าชั้นจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยมาดำเนินคดีนี้โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 121 วรรคหนึ่งซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และขัดต่อข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 เอกสารหมาย ล.1 นั้น เห็นว่าการจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละตอนกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านว่าการสอบสวนไม่ชอบย่อมถือว่าการสอบสวนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ว่าการจับกุมจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายก็ไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ถือได้ว่าเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยได้ขู่เข็ญโจทก์ร่วมและเรียกรับทรัพย์สินตามฟ้องจากโจทก์ร่วมโดยมิชอบดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 8 นาฬิกา ขณะที่โจทก์ร่วมนั่งทำงานอยู่ที่สำนักงานของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัดจำเลยได้โทรศัพท์ไปถามโจทก์ร่วมว่า คุณได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 21 ธันวาคม 2533 หน้า 4 ข่าวเศรษฐกิจหรือไม่ เมื่อโจทก์ร่วมตอบว่าได้อ่าน มีอะไรหรือ จำเลยบอกว่าเรื่องที่ลงข่าวพ่อตาของคุณ(หมายถึงนายประสิทธิ์) ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับไม่ให้ตั้งโรงงานยางมะตอยน้ำเป็นเรื่องทุจริตเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีและนายประสิทธิ์ จำเลยจะเอาไปพูดในสภา (หมายถึงรัฐสภา) ตอน(รัฐบาล) แถลงนโยบายและให้ข่าวหนังสือพิมพ์และจำเลยได้พูดกับโจทก์ร่วมต่อไปอีกว่าคราวก่อนนายประสิทธิ์เคยรับปากว่าจะให้รถยนต์แก่จำเลย 1 คัน บัดนี้ยังไม่ได้รับเลย โจทก์ร่วมถามจำเลยว่า จะให้โจทก์ร่วมทำอย่างไรจำเลยบอกว่าถ้าจะไม่ให้จำเลยไปพูดในสภาและให้ข่าวหนังสือพิมพ์จำเลยขอเงินสด 2,000,000 บาทพร้อมด้วยรถยนต์กระบะ 1 คัน โจทก์ร่วมบอกจำเลยว่า สิ่งที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวไม่เป็นความจริง และขอร้องจำเลยให้ยุติเรื่องนี้ เพราะกลัวว่าหากจำเลยเอาเรื่องนี้ไปพูดในสภาผู้แทนราษฎรและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์แล้ว จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัททิปโก้ แอสฟัลท์จำกัด เนื่องจากบริษัทกำลังรอให้กระทรวงการคลังอนุมัติให้นำหุ้นของบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและจะทำให้นายประสิทธิ์ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทต้องเสียชื่อเสียงด้วย โจทก์ร่วมขอต่อรองกับจำเลยและตกลงยอมให้เงินสด 1,000,000 บาท กับรถยนต์กระบะ 1 คันแก่จำเลยโดยนัดให้จำเลยมารับในวันที่ 28 ธันวาคม 2533 เวลา 10 นาฬิกาที่สำนักงานของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีพันตำรวจโทธวัชชัย เทียมทัน คู่เขยของโจทก์ร่วมซึ่งพักอยู่บ้านเดียวกันและนายประสิทธิ์ ทรัพย์สาคร ประธานกรรมการบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์จำกัด ซึ่งเป็นบิดาภริยาของโจทก์ร่วม กับพลตำรวจเอกประทิน สันติประภพผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ตำแหน่งในขณะเกิดเหตุ) ผู้รับแจ้งเหตุคดีนี้เป็นพยานสนับสนุน โดยพันตำรวจโทธวัชชัยเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ12 นาฬิกา พยานพบโจทก์ร่วมที่ห้องอาหารในบ้านพักโจทก์ร่วมได้เล่าให้พยานฟังว่าในวันเดียวกันนั้นเวลาเช้า จำเลยได้โทรศัพท์มาขู่เข็ญเรียกเงินจำนวน 2,000,000 บาท กับรถยนต์กระบะ 1 คัน จากโจทก์ร่วมซึ่งพยานก็ได้บอกโจทก์ร่วมไปว่าถ้านายประสิทธิ์ทราบเรื่องนี้คงจะโกรธมากเพราะฉะนั้นให้โจทก์ร่วมไปบอกให้นายประสิทธิ์ทราบด้วย ความในข้อนี้นายประสิทธิ์ได้เบิกความยืนยันว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา โจทก์ร่วมและพันตำรวจโทธวัชชัยได้เล่าเรื่องที่โจทก์ร่วมถูกจำเลยขู่เข็ญเรียกทรัพย์สินให้พยานฟัง พยานจึงแนะนำให้ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งพลตำรวจเอกประทินก็ได้เบิกความรับรองว่าในวันที่ 26 ธันวาคม 2533เวลาประมาณ 15 นาฬิกา โจทก์ร่วมและพันตำรวจโทธวัชชัยได้ไปพบพยานที่ห้องทำงานในกรมตำรวจและโจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์เรื่องที่โจทก์ร่วมถูกจำเลยขู่เข็ญเรียกทรัพย์สินต่อพยาน แต่ขณะนั้นพยานมีราชการอื่นที่จะต้องปฏิบัติ จึงแจ้งให้โจทก์ร่วมไปทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือมายื่นต่อพยานและวันรุ่งขึ้นโจทก์ร่วมได้ทำคำร้องทุกข์ตามเอกสารหมาย จ.22มายื่นต่อพยาน พยานจึงมีคำสั่งให้พันตำรวจเอกประสิทธิ์ เฟื่องอารมย์รองผู้บังคับการกองปราบปรามกับพวกไปดำเนินการตามคำร้องทุกข์และสามารถจับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยเงินสด 1,000,000 บาท กับรถยนต์กระบะ 1 คัน และของขวัญ 1 กล่องที่โจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์ร่วมกันมอบให้จำเลยเป็นของกลาง ศาลฎีกาได้ตรวจดูคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวโดยละเอียดแล้วปรากฏว่าพยานดังกล่าวเบิกความได้สอดคล้องต้องกันเป็นอย่างดีทั้งมีเหตุผลติดต่อเชื่อมโยงกันมาเป็นลำดับไร้ข้อพิรุธที่จะชี้ให้เห็นว่าพยานดังกล่าวสมคบกันมาเบิกความกลั่นแกล้งจำเลยประกอบกับโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์ต่างก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีกิจการค้าหรือมีผลประโยชน์ในทางธุรกิจเป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ร่วมหรือนายประสิทธิ์ หรือบริษัทต่าง ๆในเครือของนายประสิทธิ์และโจทก์ร่วมแต่อย่างใด รวมทั้งโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์ต่างก็มิได้เป็นนักการเมืองอันอาจจะมีผลประโยชน์ในทางการเมืองขัดแย้งกับจำเลยได้ จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์กับพันตำรวจโทธวัชชัยจะสมคบกันปั้นแต่งเรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นมาปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ โดยเฉพาะนายประสิทธิ์นั้นจำเลยก็นำสืบรับว่าเป็นผู้ที่เคยให้ความช่วยเหลือจำเลยและนักการเมืองหลายคน ทั้งยังรู้จักสนิทสนมกับจำเลย รวมทั้งนายบุญชู โรจนเสถียร อดีตหัวหน้าพรรคกิจประชาคม ซึ่งจำเลยเคยเป็นลูกพรรคเป็นอย่างดีมาเป็นเวลาช้านานแล้ว รวมทั้งนายประสิทธิ์ยังจะสนับสนุนให้จำเลยเป็นรัฐมนตรีอีกด้วย หากจำเลยมิได้โทรศัพท์ไปขู่เข็ญเรียกร้องเอาทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมโดยมิชอบ ก็ไม่มีเหตุผลที่นายประสิทธิ์จะแนะนำโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย และร่วมวางแผนจับกุมจำเลยด้วย เพราะจะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกจำเลยดำเนินคดีในความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมได้โดยง่าย สำหรับเงินสด1,000,000 บาท ของกลางที่ใส่อยู่ในถุงกระดาษของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและยึดได้จากจำเลยนั้น โจทก์ร่วมเบิกความว่าโจทก์ร่วมได้ให้นายสิทธิลาภ ทรัพย์สาคร ไปเบิกมาจากธนาคารซึ่งเป็นธนบัตรใหม่ราคาฉบับละ500 บาท รวม 2,000 ฉบับ แบ่งเป็น 20 ปึก และโจทก์ร่วมได้เอาธนบัตรทั้งหมดใส่ไว้ในถุงพลาสติกใสแล้วใส่ไว้ในถุงกระดาษของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายหมาย จ.31ภาพที่ 2 และที่ 3 และก่อนที่โจทก์ร่วมจะมอบถุงกระดาษใส่ธนบัตรของกลางดังกล่าวให้แก่จำเลยนั้น โจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์ก็เบิกความสอดคล้องต้องกันว่าโจทก์ร่วมได้ดึงถุงพลาสติกที่ใส่ธนบัตรออกจากถุงกระดาษให้จำเลยดูด้วยและจำเลยได้พูดว่าคงครบนะ ไม่ต้องนับนะ หลังจากนั้นจำเลยก็รับถุงกระดาษใส่ธนบัตรของกลางมาพับเป็นสองทบแล้วถือแนบอยู่กับอกสอดคล้องตรงกับภาพถ่ายหมาย จ.43 ซึ่งเป็นภาพที่นายประเสริฐ สุวรรณทอง พนักงานของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัดได้แอบถ่ายไว้ตามคำสั่งของนายประสิทธิ์ โดยนายประเสริฐได้แอบถ่ายรูปดังกล่าวไว้ในขณะที่จำเลยกำลังเดินไปที่รถยนต์กระบะของกลางที่นายประสิทธิ์เตรียมไว้และจอดอยู่ในบริเวณบ้านนายประสิทธิ์ที่ด้านหลังสำนักงานของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์จำกัด สำหรับถุงกระดาษที่ใส่ธนบัตรของกลางตามภาพถ่ายหมาย จ.31 นั้น ก็ปรากฏว่าเป็นถุงชนิดปากกว้างขนาดใหญ่และมีหูหิ้ว ขณะที่จำเลยรับถุงดังกล่าวมาแม้จะไม่มีการหยิบสิ่งของในถุงออกมาดู จำเลยก็สามารถมองเห็นสิ่งของในถุงว่าเป็นปึกธนบัตรจำนวนมากใส่อยู่เพราะเป็นถุงพลาสติกใสสีขุ่นเล็กน้อย การที่จำเลยเอาถุงกระดาษมาพับเป็นสองทบแล้วกอดไว้ที่อกแทนที่จะหิ้วที่หูหิ้วตามชนิดของถุงกระดาษซึ่งน่าจะถือถนัดกว่า เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าสิ่งของในถุงเป็นของมีมูลค่าสูง จึงต้องถืออย่างระมัดระวังกลัวตกหล่นหายเช่นนั้น ที่จำเลยเบิกความอ้างว่าขณะรับมอบถุงกระดาษดังกล่าวมานั้น จำเลยไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างในแต่จำเลยเข้าใจว่าเป็นสมุดไดอารี่หรือสมุดฉีกเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยอ้างว่าในวันดังกล่าวนายประสิทธิ์นัดให้จำเลยไปรับมอบรถยนต์กระบะของกลางเพื่อใช้ในการหาเสียงนั้น ก็ไม่สมเหตุผลเพราะได้ความตามทางพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเพิ่งจะจัดตั้งรัฐบาลเสร็จใหม่ ๆ ไม่น่าจะมีการยุบสภา จึงไม่ใช่เวลาที่นายประสิทธิ์จะต้องสนับสนุนจำเลยมีรถไปหาเสียงเตรียมการเลือกตั้งแต่อย่างใด แม้จำเลยจะนำสืบฟังได้ว่าจำเลยได้ขุดคุ้ยเปิดโปงการทุจริตประพฤติมิชอบของบุคคลต่าง ๆ ทั้งข้าราชการและนักการเมืองตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.14 แต่จำเลยก็ไม่สามารถนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่า บุคคลที่ถูกจำเลยร้องเรียนกล่าวโทษดังกล่าวได้อยู่เบื้องหลังการกระทำของโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์หรือบุคคลดังกล่าวได้ยืมมือโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์มาทำลายชื่อเสียงและอนาคตทางการเมืองของจำเลยโดยวางแผนให้โจทก์ร่วมมาแกล้งกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้สำหรับนายประสิทธิ์นั้นตามทางพิจารณาก็ได้ความว่าเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทการค้าที่มีชื่อเสียงหลายแห่งและเคยช่วยเหลือเกื้อกูลแก่นักการเมืองเคยให้พรรคการเมืองต่าง ๆ เช่าอาคารของตนเป็นที่ทำการพรรคมาแล้วหลายพรรค รวมทั้งเคยให้อาคารที่เกิดเหตุเป็นที่ทำการพรรคที่จำเลยสังกัดโดยไม่คิดค่าเช่ามาแล้ว หากโจทก์ร่วมมิได้ถูกจำเลยขู่เข็ญเรียกร้องเอาทรัพย์สินโดยมิชอบจนเป็นเหตุให้นายประสิทธิ์ไม่พอใจในพฤติกรรมของจำเลยก็ไม่มีเหตุอื่นใดที่นายประสิทธิ์จะกล้าสั่งหรือชี้แนะให้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรเขยไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยซึ่งเป็นนักการเมืองที่ตนรู้จักคุ้นเคยมานานแล้วเช่นนั้น เพราะจะเป็นการสร้างศัตรูกับนักการเมืองอย่างเปิดเผยซึ่งอาจมีผลกระทบกับธุรกิจการค้าของตนได้ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่านายประสิทธิ์กับพวกสร้างเรื่องใส่ร้ายจำเลยเพื่อให้จำเลยพ้นจากวงการเมือง ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือพรรคพวกทางการเมืองหรือเพื่อผลประโยชน์ทางการค้านั้น ในชั้นสืบพยานจำเลยนอกจากจำเลยจะไม่มีพยานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยในข้อนี้แล้วจำเลยยังได้เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ยอมรับว่าการที่จำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีนี้และถูกฟ้องด้วยนั้นจำเลยเพียงแต่เข้าใจว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้งเนื่องจากจำเลยเคยร้องเรียนเรื่องการทุจริตของผู้อื่นส่วนโจทก์คดีนี้และโจทก์ร่วมจะกลั่นแกล้งจำเลยจริงหรือไม่จำเลยไม่ทราบเมื่อจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ สำหรับพลตำรวจเอกประทินพยานโจทก์และโจทก์ร่วมนั้นแม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่าก่อนเกิดเหตุพลตำรวจเอกประทินเคยจองซื้อหุ้นของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัดในขณะที่มีการกระจายหุ้น ศาลฎีกาเห็นว่า มิใช่เป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยอ้างในทำนองว่าพลตำรวจเอกประทินได้หุ้นมาโดยไม่มีการชำระเงินค่าหุ้นนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างลอย ๆโดยไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน แม้พลตำรวจเอกประทินจะเคยจองซื้อหุ้นของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ซึ่งนายประสิทธิ์เป็นประธานกรรมการบริหารและมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารก็ไม่ได้หมายความว่าพลตำรวจเอกประทินจะต้องยอมเป็นเครื่องมือร่วมมือกับโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์สร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จขึ้นมากลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลย หรือสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาร่วมมือกับโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์สร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จขึ้นมาปรักปรำจำเลยและที่โจทก์ร่วมกับพันตำรวจโทธวัชชัยพากันไปร้องทุกข์คดีนี้ต่อพลตำรวจเอกประทิน ก็ได้ความจากพันตำรวจโทธวัชชัยพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่าเนื่องจากพยานเห็นว่า การร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่คงจะไม่ดีเพราะเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่อาจจะเกรงบารมีของนักการเมือง ทำให้การดำเนินคดีไม่เป็นไปตามที่ต้องการ จึงควรไปแจ้งเหตุต่อพลตำรวจเอกประทินซึ่งเป็นนายตำรวจที่มีชื่อเสียง เป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลให้รับฟังได้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์ร่วมที่ไปร้องทุกข์ต่อพลตำรวจเอกประทินดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา และการที่จำเลยกล้ามารับรถยนต์กระบะกับเงินสดจากโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์ด้วยตนเอง จึงเป็นเหตุให้ถูกจับกุมพร้อมของกลางเช่นนั้น ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยคิดไม่ถึงว่าโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์จะกล้าวางแผนจับกุมจำเลยโดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจบารมีของนักการเมืองเช่นจำเลย ซึ่งเคยขุดคุ้ยเปิดโปงเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบของบุคคลในวงการต่าง ๆ คดียังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจเอกประสิทธิ์ เฟื่องอารมย์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้จับกุมจำเลยว่าขณะที่เข้าจับกุมจำเลย พยานได้เปิดประตูรถยนต์กระบะของกลางและแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอจับกุมจำเลยในข้อหากรรโชกทรัพย์นั้น จำเลยนั่งตะลึงอยู่ และจำเลยไม่ได้บอกพยานว่าขอเข้าไปถามนายประสิทธิ์ ทรัพย์สาคร ก่อนว่าทำไมทำเช่นนี้ หลังจากนั้นพยานได้ชะโงกไปดูถุงกระดาษใส่ธนบัตรแล้วหยิบถุงธนบัตรให้จำเลยดู จำเลยจึงได้บอกพยานว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกับหยิบบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้พยานดู เมื่อพยานแจ้งข้อหากรรโชกทรัพย์แก่จำเลย จำเลยนั่งอึ้งไม่ตอบรับหรือปฏิเสธในขณะนั้น ซึ่งความในข้อนี้พันตำรวจเอกมงคล กมลบุตรผู้ร่วมจับกุมจำเลยก็ได้มาเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า ขณะที่พยานเดินเข้าไปยังรถยนต์กระบะของกลางที่จำเลยขับออกจากบ้านพักของโจทก์ร่วมนั้น พยานเห็นจำเลยมีอาการหน้าซีด เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองปากดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานจะเบิกความปรุงแต่งเรื่องดังกล่าวขึ้นมาเองให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองปากดังกล่าวเบิกความไปตามความสัตย์จริงพฤติการณ์ของจำเลยขณะถูกจับกุมตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบดังกล่าว จึงเป็นข้อพิรุธอย่างมากของจำเลยที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดมาแล้ว และถูกจับกุมได้พร้อมด้วยของกลางอย่างกะทันหันโดยไม่ทันคิดมาก่อน จำเลยจึงมีอาการเช่นนั้น จำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง มีประสบการณ์ชีวิตมามากมายทั้งยังสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาโททางรัฐศาสตร์อีกด้วย หากจำเลยถูกโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์กลั่นแกล้งวางแผนให้เจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลยโดยจำเลยมิได้กระทำผิดใด ๆ ขณะถูกจับกุมจำเลยก็น่าจะแสดงอาการโกรธแค้นโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์ที่หลอกล่อให้จำเลยมาจนถูกจับกุมบ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แสดงอาการดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะถูกจับกุมปรากฏว่าจำเลยได้ดึงกระชากขอเปิดประตูด้านคนขับจนหักชำรุดตามภาพถ่ายหมาย จ.31 ภาพที่ 8ซึ่งพันตำรวจเอกประสิทธิ์และพันตำรวจเอกมงคลได้บันทึกไว้ว่าขณะถูกจับกุมจำเลยพยายามจะเปิดประตูรถหลบหนี และดันต่อสู้กับร้อยตำรวจเอกสุกิจ ภักดีดินแดน ตามภาพถ่ายหมาย จ.31 ภาพที่ 7 เป็นข้อพิรุธของจำเลยอีกประการหนึ่ง ที่จำเลยเบิกความต่อสู้ในข้อนี้ว่าขณะถูกจับกุมจำเลยเข้าใจว่ากลุ่มชายที่เข้ามารถจำเลยได้จับประตูรถพยายามจะเปิดออก แต่จำเลยไม่ยอมให้เปิดออกเพราะเกิดอาการกลัวโดยจำเลยกลัวว่าจะถูกยิงหรือวางระเบิดเป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้เพราะกลุ่มเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่จะเข้าจับกุมจำเลยจะต้องมีลักษณะท่าทางแตกต่างจากคนร้ายที่จะเข้าไปทำร้ายจำเลยอย่างแน่นอนขณะที่จำเลยถูกนำตัวไปที่กรมตำรวจไปพบพลตำรวจเอกแสวง ธีระสวัสดิ์อธิบดีกรมตำรวจและพลตำรวจเอกประทินตามภาพถ่ายหมาย จ.33 ภาพที่ 7นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ร้องทุกข์ต่อนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ดังกล่าวว่าจำเลยถูกนายประสิทธิ์และโจทก์ร่วมกลั่นแกล้งแต่อย่างใด นับว่าเป็นการผิดปกติวิสัยของจำเลยซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในทางขุดคุ้ยเปิดโปงการทุจริตประพฤติมิชอบของบุคคลต่าง ๆ อย่างยิ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าวันเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีได้โทรศัพท์ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตนโดยพูดขู่เข็ญว่าจะนำเรื่องผู้บริหารของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตามข่าวในหนังสือพิมพ์มติชนไปอภิปรายในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทำอันตรายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัดซึ่งมีนายประสิทธิ์เป็นประธานกรรมการบริษัทและมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสดจำนวน1,000,000 บาท กับรถยนต์กระบะ 1 คัน แก่จำเลยตามที่ต่อรองตกลงกัน พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ด้วยหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ มีหน้าที่ควบคุมการบริหารงานราชการแผ่นดินของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีโดยการอภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของรัฐมนตรีนั้น ๆ ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในช่วงเกิดเหตุ แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะนำสืบฟังได้ว่า ในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จำเลยมีสิทธิที่จะนำเรื่องที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ในทำนองว่าผู้บริหารบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปอภิปรายในรัฐสภาโดยอภิปรายถึงการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งการอภิปรายจะต้องเชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด แต่เรื่องที่จำเลยจะนำไปอภิปรายดังกล่าว ก็จะต้องเป็นความจริงหรือจำเลยเชื่อว่าเป็นความจริงจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่นำความอันเป็นเท็จไปอภิปรายในรัฐสภาได้ คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมได้บรรยายฟ้องและนำสืบในทำนองว่าเรื่องที่จำเลยกล่าวหาว่าผู้บริหารบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องตั้งโรงงานยางมะตอยไม่เป็นความจริง ซึ่งเท่ากับโจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่า ที่จำเลยพูดขู่เข็ญโจทก์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องผู้บริหารของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยแกล้งกล่าวหาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมให้เงินจำนวน 2,000,000 บาท และรถยนต์ 1 คันแก่จำเลย แลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภา กรณีตามคำฟ้องไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐได้พบเห็นหรือรู้เห็นความผิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับสินบนจากผู้บริหารของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์จำกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริง แล้วจำเลยใช้เหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อรองเรียกรับทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมโดยมิชอบเพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภาตามตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 อีกบทหนึ่งตามที่โจทก์ฟ้องด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาด้วยนั้นจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 วรรคแรก บทเดียว จำคุก 4 ปี และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

Share