แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมและมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่คำฟ้องก็ได้ระบุมาแจ้งชัดว่าจำเลยออกเช็ค2 ฉบับ ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามเช็คแต่ละฉบับศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ได้ ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) เพียงแต่บัญญัติให้โจทก์อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น หาได้บัญญัติให้จำต้องอ้างถึงบทมาตราเกี่ยวกับการลงโทษหลายกรรมด้วยไม่ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงแรก จำคุก 2 เดือน กระทงหลังจำคุก 4 เดือนรวมลงโทษจำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และในคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยหลายกระทงการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกสองกระทงจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก เมื่อการกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่สามารถลงโทษสองกระทงได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำคุกเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 กระทงเดียว ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 60,000 บาทเมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า สมควรลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ต้องรอการลงโทษหรือปรับหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยเพียง 1 เดือน 15 วัน ซึ่งเป็นโทษจำคุกระยะสั้นที่ศาลอาจสั่งเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 หรือให้ยกโทษจำคุกเสียตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 ก็ได้ เพราะการจำคุกบุคคลในระยะสั้นมิได้ทำให้จำเลยเข็ดหลาบ และนอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีแล้ว ยังเป็นการตัดหนทางมิให้จำเลยได้ขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์อีกด้วย ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยในคดีอาญาขึ้นอยู่กับข้อหาและความร้ายแรงของการกระทำผิดว่าจำเลยสมควรรับโทษสถานใด คดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค คู่กรณีสามารถยอมความกันได้เพราะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวผู้ได้รับความเสียหายคงมีเฉพาะโจทก์ สังคมมิได้รับผลกระทบกระเทือนจากการกระทำของจำเลยด้วย และถึงแม้จำเลยไม่ถูกจำคุก โจทก์สามารถดำเนินคดีแพ่งเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คได้เต็มจำนวนอยู่แล้ว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกแต่ให้คงลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 30,000 บาทจึงเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเป็นอย่างอื่น ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมและมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ก็ตามแต่คำฟ้องก็ได้ระบุมาแจ้งชัดว่า จำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ ดังนี้ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามเช็คแต่ละฉบับ เช่นนี้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ได้ ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(6) เพียงแต่บัญญัติให้โจทก์อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น หาได้บัญญัติให้จำต้องอ้างถึงบทมาตราเกี่ยวกับการลงโทษหลายกรรมด้วยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและในคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยหลายกระทง และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดเพียงกระทงเดียวนั้นศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษเสียให้ถูกต้อง โดยไม่แก้โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามา”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 รวม 2 กระทง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3