คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 926/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 7 พระราชบัญญัติกันชา หาได้บัญญัติถึงความผิดฐานมีกันชาไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย แยกออกจากการมีกันชาด้วยไม่
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันเวลาที่จำเลยมีกันชาแห่งไว้ในความครอบครอง ก็อยู่ในวันเวลาสุดท้ายที่หาว่าจำเลยมีกันชาสดไว้ในความครอบครองนั่นเอง จึงเป็นการครอบครองกันชาทั้งสองชนิดพร้อมกันตลอดมา การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๙ ถึงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๙ เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยปลูกกันชาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามวันเวลาดังกล่าวแต่ต่างวาระกัน จำเลยมีกันชาสด ๑๐๐ ต้น หนัก ๒๐,๘๐๐ กรัม ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ต่อมาวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๙ เวลากลางวัน จำเลยมีกันชาแห้ง ๑ มัด หนัก ๑,๙๐๐ กรัม ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกันชา พ.ศ.๒๔๗๗ มาตรา ๕, ๗, ๙, ๑๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๔ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติกันชา พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๕, ๗, ๙, ๑๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ ลงโทษฐานปลูกกันชา จำคุก ๑ ปี ปรับ ๕๐๐ บาท ลงโทษฐานมีกันชาสด จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒๐๐ บาง ลงโทษฐานมีกันชาแห้ง จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒๐๐ บาท รวมจำคุก ๒ ปี ปรับ ๙๐๐ บา จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ปรับ ๔๕๐ บาท ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษปรับสถานเดียว และรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานปลูกกันชา จำคุก ๖ เดือน และฐานมีกันชา จำคุก ๓ เดือน รวม ๒ กระทง เป็นจำคุก ๙ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๔ เดือน ๑๕ วัน ของกลางริบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย ตามพฤติการณ์แห่งคดี ไม่มีเหตุสมควร จึงไม่รอการลงโทษให้ตามขอ
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษฐานมีกันชาแห้งไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกกระทงหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติกันชา มาตรา ๗ หาได้บัญญัติถึงความผิดฐานมีกันชาไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย แยกออกจากการมีกันชาด้วยไม่ แต่พออนุมานได้ว่า ฎีกาของโจทก์มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานมีกันชาแห้งไว้ในความครอบครองอีกกระทงหนึ่งด้วยเท่านั้น แล้ววินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ข้อ ๑ ข. มีใจความว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๙ ถึงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๙ เวลากลางวันและกลางคืน แต่ต่างวาระกัน จำเลยบังอาจมีกันชาสดหนัก ๒๐,๘๐๐ กรัม ไว้ในความครอบครอง และข้อ ๑ ค. มีใจความว่า ต่อมาวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๙ เวลากลางวัน จำเลยบังอาจมีกันชาแห้งหนัก ๑,๙๐๐ กรัม ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า วันเวลาที่จำเลยมีกันชาแห้งไว้ในความครอบครองก็อยู่ในวันเวลาสุดท้าย ที่หาว่าจำเลยมีกันชาสดไว้ในความครอบครองตามฟ้องข้อ ๑ ข. นั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้จากตามฟ้องข้อ ๒ มีใจความว่า วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๙ เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยกันชาดังกล่าวในฟ้องข้อ ๑ คือ กันชาสดและกันชาแห้งถูกยึดไว้ได้ในวันเดียวกัน แม้เจ้าพนักงานไปจับและยึดกันชาสดได้จากไร่ของจำเลยก่อน แล้วมาได้กันชาแห้งที่กระท่อมนาของจำเลยภายหลังก็ตาม แต่ตามวันเวลาในฟ้องโจทก์ข้อ ๑ ข. และ ค. จำเลยได้บังอาจครองครองกันชาทั้งสองชนิดพร้อมกันตลอดมา ซึ่งหาใช่จำเลยครอบครองกันชาสดมาก่อนแล้วมาครอบครองกันชาแห้งภายหลัง อันเป็นการกระทำหลายกรรมตามที่โจทก์ฎีกาไม่ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวกัน
พิพากษายืน

Share