แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขณะที่ผู้ให้เช่าโอนขายนาพิพาทให้จำเลยพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่านาพิพาทย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัตินี้ จึงมีสิทธิซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยได้แม้ต่อมาพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ก็ไม่อาจลบล้างสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ก่อน กรณีดังกล่าวแม้คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลจะให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนจากจำเลยตามราคาที่คณะกรรมการกำหนดก็ไม่มีผลลบล้างสิทธิของโจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 มาตรา 41 ที่จะซื้อนาพิพาทคืนในราคาที่ผู้ให้เช่าขายให้แก่จำเลย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ในราคาไร่ละ 8,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์นำราคาที่ดินมาวางศาลเพื่อชำระแก่จำเลยภายใน 30 วันนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด มิฉะนั้นโจทก์หมดสิทธิซื้อที่ดินพิพาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่าเดิมที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่นาเป็นของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขายให้แก่นายสมชาย ชุนหวรานนท์ แล้วขอเช่าที่ดินพิพาทจากนายสมชายตลอดมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ถึงพ.ศ. 2524 ครั้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2529 นายสมชายได้โอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยจดทะเบียนซื้อขายราคาไร่ละ 4,000 บาทปรากฏตามเอกสารหมายจ.1 โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์มีความประสงค์จะซื้อที่ดินพิพาทในราคาดังกล่าว จึงได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลหลักชัย อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลหลักชัยประชุมแล้วมีมติให้โจทก์ซื้อที่ดินคืนจากจำเลยในราคาไร่ละไม่เกิน 8,000 บาท ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมายล.1 โจทก์ไม่พอใจ ได้ร้องเรียนไปยังนายอำเภอลาดบัวหลวงนายอำเภอเรียกประชุมคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลหลักชัยอีก ที่ประชุมมีมติว่าโจทก์ไม่มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืน โจทก์ไม่พอใจได้อุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีมติให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์ได้
ปัญหาพิจารณามีว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์กล่าวในฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 แต่กฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 3ฟ้องของโจทก์จึงไม่มีมูลที่ศาลจะบังคับให้ได้นั้น ได้ความว่าขณะที่นายสมชายโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยนั้น พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ยังมีผลบังคับอยู่ โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัตินี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยได้นับแต่วันที่จำเลยจดทะเบียนรับโอนนาพิพาทมาจากนายสมชาย ขุนหวรานนท์ ผู้ให้เช่าแม้ต่อมาพระราชบัญญัติ ดังกล่าวถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 แต่ก็ไม่อาจลบล้างสิทธิของโจทก์ซึ่งมีอยู่ก่อน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยในราคาไร่ละ 4,000 บาทนั้น เห็นว่าแม้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลหลักชัย อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะมีมติตามเอกสารหมาย ล.1 กำหนดให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยได้ในราคาไร่ละไม่เกิน 8,000 บาทแต่สิทธิของโจทก์ที่จะซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยมีอยู่ก่อนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลหลักชัย อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนั้นคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่มีผลลบล้างสิทธิของโจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 41 วรรคสี่ ที่จะซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคาที่นายสมชายขายให้แก่จำเลย ส่วนราคาจะเป็นเท่าไรนั้นปรากฏตามสัญญาซื้อขายซึ่งจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทราคา 110,160 บาทหรือไร่ละ 4,000 บาท นอกจากนี้นายสมชายผู้ขายได้แถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่านายสมชายไม่ทราบว่าจะมีถนนตัดผ่านที่ดินพิพาทจึงขายให้จำเลยราคาไร่ละ 4,000 บาทปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 ที่จำเลยนำสืบว่าซื้อที่ดินพิพาทในราคาไร่ละ 8,000 บาท แต่นายสมชายผู้ชำระค่าธรรมเนียมการซื้อขายแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าซื้อขายกันไร่ละ 4,000 บาทนั้น คงมีแต่ตัวจำเลยเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายสมชายขายที่ดินพิพาทให้จำเลยในราคาไร่ละ 4,000 บาท อันเป็นราคาที่โจทก์มีสิทธิซื้อคืน ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในราคาไร่ละ 8,000 บาท เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่มีอีกต่อไปคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8619 ตำบลลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา ให้โจทก์ในราคาไร่ละ 4,000 บาท นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์