คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 925/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำบรรยายฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยได้กระทำผิดยักยอกในฐานผู้มีอาชีพหรือประกอบธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 โดยโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยเป็นพนักงานธนาคาร และเป็นตัวแทนโจทก์ในการจัดเก็บหนี้สินจากลูกหนี้ของโจทก์เพื่อนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ แต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนที่ดี กลับปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหวังประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์นั้น จึงไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยที่เป็นตัวแทนของโจทก์ตามฟ้องเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับการที่จำเลยเป็นพนักงานธนาคารซึ่งเป็นอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน หรือเป็นการที่โจทก์มอบให้จำเลยกระทำเป็นตัวแทนของโจทก์เป็นการส่วนตัว และไม่มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดในฐานที่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 354 ฉะนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีของโจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาหลักสี่ และเป็นตัวแทนของโจทก์ในการจัดเก็บหนี้สินจากลูกหนี้ของโจทก์ที่ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์รวม 7 ราย เพื่อนำมาเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ และยังเป็นผู้ดูแลบัญชีเงินฝากของโจทก์แทนโจทก์ด้วย เมื่อประมาณต้นปี 2527 ถึงต้นปี 2530 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด หลายกรรมหลายวาระ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่ดังกล่าว ได้เบียดบังเอาเงินในบัญชีของโจทก์หรือ เงินที่เก็บมาจากลูกหนี้ของโจทก์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยจำนวน 445,000 บาท (สี่แสนสี่หมื่นห้าพันบาทถ้วน) ไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต ไม่ส่งมอบให้โจทก์ตามหน้าที่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ทราบความจริงเมื่อวันที่ 30 เมษายน2530 จึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับจำเลยในวันดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่า คดีของโจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ หรือไม่ เห็นว่าการที่คำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่า จำเลยได้กระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอันเป็นองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 โดยโจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงว่า จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาหลักสี่ และเป็นตัวแทนของโจทก์ในการจัดเก็บหนี้สินจากลูกหนี้ของโจทก์เพื่อนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ และนอกจากนี้จำเลยยังเป็นผู้ดูแลเงินฝากของโจทก์ แต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนที่ดีกลับปฏิบัติหน้าที่โดยเจตนาทุจริต หวังประโยชน์ของตนเป็นใหญ่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์นั้น คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยที่เป็นตัวแทนของโจทก์ตามฟ้อง เป็นการกระทำอันเกี่ยวกับการที่จำเลยเป็นพนักงานธนาคารซึ่งเป็นอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน หรือเป็นการที่โจทก์มอบให้จำเลยกระทำเป็นตัวแทนของโจทก์เป็นการส่วนตัว คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำผิดในฐานที่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนตามมาตรา 354 แม้ในคำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้างมาตรา 354 มาด้วยก็ตาม ก็เป็นการระบุเกินมาจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในตอนต้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 354ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีของโจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา193 ทวิ คดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมายังไม่พอฟังลงโทษจำเลย การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าพยานโจทก์ทั้งหมดรับฟังลงโทษจำเลยได้ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
พิพากษายืน.

Share