แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 72 และ 73 แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช 2464 ให้อำนาจการรถไฟฯ เป็นผู้พิจารณาว่าทางรถไฟผ่านเข้ามถนนสายใดสำคัญหรือไม่ ถ้าเป็นทางสายสำคัญก็ให้ปฏิบัติตามมาตรา 72 ถ้าเป็นทางสายไม่สู้สำคัญก็ให้ปฏิบัติตามมาตรา 73 หาได้บังคับให้การรถไฟฯ จำต้องทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนบรรดาที่ตัดผ่านทางรถไฟทุกสายไม่
ก่อนถึงทางรถไฟตรงที่เกิเหตุมีป้ายบอกว่าระวังรถไฟ มีป้ายใช้ความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตอนจะถึงทางรถไฟมีเลข 20 แล้วมีเสาแผงสัญญาณไฟ ขณะนั้นสัญญาณไฟวาบและระฆังทำงานได้ตามปกติ แสดงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามมาตรา 73 แล้ว ไม่เป็นการประมาทเพราะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ขับรถยนต์ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์โดยสารคันหนึ่งด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูง เมื่อถึงทางรถไฟทอดผ่านถนน จำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัตตามเครื่องหมายจราจรไม่หยุดรถตามป้าย สัญญาณไฟวาบและเสียงระฆังแซงรถคันอื่นเข้าไปในทางรถไฟจนชนกับรถไฟขบวนหนึ่งของโจทก์ รางรถไฟ รถจักร และรถพ่วงเสียหาย ๑๖,๐๐๐ บาทเศษ เป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ประมาท พนักงานขับรถไฟของโจทก์ประมาท ขับรถผ่านถนนตัดกับทางรถไฟด้วยความเร็วสูงโดยไม่เปิดหวูดสัญญาณ สัญญาณไฟวาบและระฆังไม่ทำงาน โจทก์ละเลยไม่ทำประตูขึงโซ่หรือทำแผงปิดกั้นขวางถนนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.๒๔๖๔ มาตรา ๗๒, ๗๓ เป็นเหตุให้ชนรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ เสียหาย ๘๐,๐๐๐ บาท ขาดรายได้ ๑๐๘,๐๐๐ บาท จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายดังกล่าว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าจำเลยเป็นฝ่ายประมาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยและให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจิฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นตายและบาดเจ็บ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ คดีถึงที่สุดไปแล้ว คดีสำหรับจำเลยที่ ๑ จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๖ จำเลยที่ ๑ จะนำสืบโต้เถียงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แล้ววินิจฉัยให้เฉพาะฎีกาของจำเลยที่ ๒ โดยฟังข้อเท็จจริงว่าขณะเกิดเหตุไฟวาบและระฆังสัญญาณใช้ได้อยู่ตามปกติ แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดวางการรถไฟและทางหลวงโดยไม่ได้จัดแผง โซ่ หรือไม้กั้นถนนตรงที่เกิดเหตุซึ่งตัดกับทางรถไฟ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ประเด็นข้อนี้พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช ๒๔๖๔ มาตรา ๗๒ บัญญัติว่า “เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับให้วางรางคู่กำกับเพื่อให้มีช่างทางพอครีบล้อรถผ่านไปมาได้ กับให้ทำประตูฤาขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนฤาทางนั้น ๆ ตามสมควรแก่การ” และมาตรา ๗๓ บัญญัติว่า “เมื่อถนนที่ต้องผ่านข้ามไปนั้นไม่สู้สำคัญพอถึงกับต้องทำประตูกั้นแล้วให้พนักงานขับรถจักรเปิดหวีดก่อนที่รถจะผ่านข้ามถนนนั้น กับให้ทำเครื่องหมายสัญญาณอย่างถาวรปักไว้ให้เป็นแจ้งบนทางแลถนนนั้นเพื่อให้พนักงานขับรถจักรและประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้าใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนน” ตามตัวบทกฎหมายดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายให้อำนาจการรถไฟฯ เป็นผู้พิจารณาว่าทางรถไฟผ่านข้ามถนนสายใดสำคัญหรือไม่ ถ้าเป็นทางสำคัญก็ให้ปฏิบัติตามมาตรา ๗๒ ถ้าเป็นทางไม่สู้สำคัญก็ให้ปฏิบัติตามมาตรา ๗๓ กฎหมายหาได้บังคับให้การรถไฟฯ จำต้องทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนบรรดาที่ตัดผ่านทางรถไฟทุกสายไม่ แล้วฟังว่า ก่อนถึงทางรถไฟตรงที่เกิดเหตุมีป้ายบอกว่าระวังรถไฟ และมีป้ายใช้ความเร็ว ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมาจะถึงทางรถไฟมีเลข ๒๐ แล้วมีเสาแผงสัญญาณไฟ สัญญาณไฟวาบ และระฆังทำงานได้ตามปกติ แสดงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช ๒๔๖๔ แล้ว
พิพากษายืน