คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 487/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้อง ว. ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 128 ฉบับ ที่ศาลแพ่งธนบุรี 2 คดี ซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ ว. ชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ และโจทก์ฟ้องบริษัท น. ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ 2 คดี ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาให้บริษัท น. ชำระเงินตามฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุด ส่วนคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการจำเลยอุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีทั้งสี่สำนวนดังกล่าวจำเลยผู้สั่งจ่ายยังไม่ได้ชำระเงินตามคำพิพากษาให้โจทก์ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามคดีนี้ให้รับผิดตามสัญญาขายลดเช็ค ส่วนคดีเดิมทั้งสี่สำนวนโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท แม้การฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมเป็นการฟ้องเกี่ยวกับเช็คพิพาทชุดเดียวกันแต่มูลหนี้คดีนี้เป็นคนละมูลหนี้กับคดีเดิมและสภาพแห่งข้อหาต่างกันทั้งจำเลยก็เป็นคนละคนกัน กรณีมิใช่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและมิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง และมาตรา 173 วรรคสอง (1) จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์สาขาสำนักงานใหญ่สีลมได้นำเช็ค 213 ฉบับ มาทำสัญญาขายลดเพื่อขอรับเงินไปก่อนจากโจทก์ สาขาสำนักงานใหญ่สีลม รวม 25 ครั้ง และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญาขายลดเช็คไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ตกลงว่า เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดใช้เงินหากโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด และจำเลยที่ 1 ตกลงชำระเงินตามจำนวนที่ปรากฏในเช็คให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดในขณะนั้นซึ่งกำหนดไว้ในขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันถึงกำหนดใช้เงินถึงวันที่โจทก์ได้รับชำระเงินครบถ้วน เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2532 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27885, 27886, 27887 และ 30715 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 15,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2533 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกข้อตกลงขึ้นวงเงินจำนองเป็นประกันอีก 15,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนอง 30,000,000 บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2533 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27900, 27901 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 15,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2534 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27902, 27903, 27904 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 20,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6200 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 30,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 2, 3, 4 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 50,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ทุกชนิดของจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์ในวงเงินต้น 550,000,000 บาท และยินยอมใช้ดอกเบี้ยกับค่าสินไหมทดแทน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้หนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน เมื่อเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดไว้กับโจทก์ดังกล่าวถึงกำหนดใช้เงิน โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คได้นำเช็คเข้าเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ปรากฏว่าโจทก์เรียกเก็บเงิตามเช็คได้บางส่วน มีเช็คที่โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้โดยธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ซึ่งเป็นเช็คธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักงานใหญ่ เช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักงานใหญ่ เช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสาทร เช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักงานเพชรบุรี เช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขานานาเหนือ จำนวนเช็ค 128 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 260,143,260.12 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินแก่โจทก์เป็นเงินต้น 260,143,260.12 บาท และดอกเบี้ยในอัตราสินเชื่อผิดนัดร้อยละ 18 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับเป็นต้นไปซึ่งคิดถึงวันฟ้องคือวันที่ 28 มิถุนายน 2544 เป็นดอกเบี้ย 190,579,523.13 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 450,722,783.25 บาท จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดเป็นเงินต้น 204,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับสุดท้ายเป็นต้นไป คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 141,145,643.84 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 345,145,643.84 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้รับแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 450,722,783.25 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 260,143,260.12 บาท นับถัดจากวันที่ 28 มิถุนายน 2544 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แล้วเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 345,145,643.84 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 204,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระหนี้แล้วเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ได้ฟ้องเรียกเงินตามเช็คทุกฉบับที่ศาลอื่นมาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 และเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 เนื่องจากเป็นมูลหนี้เดียวกับคดีที่โจทก์ฟ้องที่ศาลอื่น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 450,722,783.25 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 260,143,260.12 บาท นับถัดจากวันที่ 28 มิถุนายน 2544 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 345,145,643.84 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 204,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 200,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1 นำเช็ค 213 ฉบับ มาทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์ 25 ครั้ง ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินเอกสารหมาย จ.23 ถึง จ.47 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญาดังกล่าวจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างค้ำประกันและทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวตามสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันหนี้ทุกชนิดเอกสารหมาย จ.48 ถึง จ.54 เมื่อเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดกับโจทก์ถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินปรากฏว่าเช็คบางส่วนเรียกเก็บเงินได้ แต่เช็คอีก 128 ฉบับ เรียกเก็บเงินไม่ได้ รวมเป็นเงินตามเช็ค 260,143,260.12 บาท และจำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 128 ฉบับ คือนายวิทย์ วุฒิพุธนันท์ ที่ศาลแพ่งธนบุรี 2 คดี ซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้นายวิทย์ชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.19 และโจทก์ฟ้องบริษัทนครไทยสตีลเวอร์ค จำกัด ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ 2 คดีเช่นกัน ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาให้บริษัทนครไทยสตีลเวอร์ค จำกัด ชำระเงินตามฟ้องโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.21 และ จ.22 คดีตามเอกสารหมาย จ.21 ถึงที่สุด ส่วนคดีตามเอกสารหมาย จ.22 จำเลยอุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และปรากฏข้อเท็จจริงว่า คดีทั้งสี่สำนวนดังกล่าวจำเลยผู้สั่งจ่ายยังไม่ได้ชำระเงินตามคำพิพากษาให้โจทก์ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามคดีนี้ให้รับผิดตามสัญญาขายลดเช็ค ส่วนคดีเดิมทั้งสี่สำนวนโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท แม้การฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมเป็นการฟ้องเกี่ยวกับเช็คพิพาทชุดเดียวกัน แต่มูลหนี้คดีนี้เป็นคนละมูลหนี้กับคดีเดิมและสภาพแห่งข้อหาต่างกัน ทั้งจำเลยก็เป็นคนละคนกัน กรณีมิใช่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและมิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง และมาตรา 173 วรรคสอง (1) ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็คไว้ที่ศาลอื่น ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 60,000 บาท แทนโจทก์

Share