คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีข้อความที่ระบุไว้ว่าไม่ได้มีการส่งมอบเงินกันในวันทำสัญญากู้ แต่กลับมีรายการแสดงการเป็นเจ้าหนี้ของเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี อันมีที่มาจากบัญชีเดินสะพัดกระแสรายวัน บัญชีดังกล่าวจึงใช้เป็นหลักฐานว่าโจทก์ได้ชำระเงินที่ น. กู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์แล้ว เป็นเอกสารสำคัญที่โจทก์ต้องนำมาสืบ แม้โจทก์จะมีผู้รับมอบอำนาจมาเบิกความประกอบการหักทอนบัญชีเพื่อให้เห็นว่ามีหนี้ค้างชำระกันจำนวนเท่าใด ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า น. เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 514,576.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 บาทต่อปี ของต้นเงิน 493,322.59 บาท นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของนายนรินทร์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า นายนรินทร์เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายธีรเทพผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานว่านายนรินทร์ได้ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์จำนวน 400,000 บาท ตกลงคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ นายนรินทร์ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12575 ตำบล (อิสาณ) ชุมเห็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากที่นายนรินทร์กู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์แล้ว มีการนำเงินเข้าและถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวัน บัญชีเลขที่ 57 – 6 ซึ่งเป็นบัญชีเดินสะพัด ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 โจทก์ได้หักทอนบัญชี ปรากฏว่านายนรินทร์เป็นหนี้โจทก์จำนวน 414,356.47 บาท นับแต่นั้นมานายนรินทร์ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นให้อัตราร้อยละ 18.5 บาทต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2538 จนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 เป็นเงิน 78,966.12 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 493,329.59 บาท เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุการเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 400,000 บาท ไว้ว่า ผู้กู้จะเบิกเงินไปจากผู้ให้กู้ตามจำนวนที่ผู้กู้ต้องการและตามที่ผู้ให้กู้จะพึงพิจารณาอนุญาตตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้เป็นไปตามวิธีและประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีของธนาคาร บัญชีเดินสะพัดกระแสรายวันเลขที่ 57 – 6 จึงเป็นเอกสารสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงวิธีและประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีของนายนรินทร์อันจะถือได้ว่า นายนรินทร์เป็นหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่โจทก์มิได้นำบัญชีดังกล่าวอ้างเป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใดไม่ ทั้ง ๆ ที่เอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ดังนั้นจึงยังไม่พอที่จะรับฟังได้ว่า นายนรินทร์ได้รับเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์และค้างชำระเงิน เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่มีหลักฐานการเป็นหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีของนายนรินทร์ เพราะตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมีข้อความที่ระบุไว้ว่าไม่ได้มีการส่งมอบเงินที่กู้กันในวันทำสัญญากู้แต่กลับมีรายการแสดงการเป็นเจ้าหนี้ของเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว อันมีที่มาจากบัญชีเดินสะพัดกระแสรายวันเลขที่ 57 – 6 บัญชีดังกล่าวจึงใช้เป็นหลักฐานว่าโจทก์ได้ชำระเงินที่นายนรินทร์กู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์แล้ว หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องแสดงการเป็นเจ้าหนี้ต่อนายนรินทร์ไม่ แม้โจทก์จะมีผู้รับมอบอำนาจมาเบิกความประกอบการหักทอนบัญชีเพื่อให้เห็นว่ามีหนี้ค้างชำระกันจำนวนเท่าใดก็ยังไม่อาจรับฟังได้ ว่านายนรินทร์เป็นหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share