คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 160 และ ป.อ. มาตรา 390 เจ้าพนักงานยึดรถยนต์ซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง โจทก์ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 33 และขอให้ริบรถยนต์ของกลางด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงฟังเป็นยุติว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด จำเลยจะฎีกาโต้แย้งว่ารถยนต์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอีกไม่ได้ และแม้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดที่ใช้ลงโทษแก่จำเลยจะไม่มีบทบัญญัติให้ริบทรัพย์ดังกล่าว แต่จะถือว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับหาได้ไม่ เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 33 กำหนดให้ศาลริบทรัพย์ได้นอกเหนือไปจากกรณีที่กฎหมายอื่นได้บัญญัติไว้ด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาริบรถยนต์ของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 17, 33 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ-8983 สงขลา ไปตามถนนจะนะจากด้านทิศตะวันออกมุ่งหน้าไปทางสี่แยกองค์การโทรศัพท์ด้านทิศตะวันตกตัดกับถนนนครในตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ด้วยความเร็วสูงแซงซ้ายแซงขวาในลักษณะฉวัดเฉวียนไปมาและปาดหน้ารถคันอื่นในระยะกระชั้นชิดโดยไม่ให้สัญญาณใด ๆ เมื่อถึงบริเวณสี่แยกองค์การโทรศัพท์ จำเลยขับรถเข้าสี่แยกอย่างรวดเร็วโดยไม่ลดความเร็วเพื่อให้นางสาวพิมพิชญา ผุดผ่อง ซึ่งขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนสงขลา ย-1171 ไปตามถนนนครในด้านทิศใต้มุ่งหน้าไปด้านทิศเหนือให้ผ่านสี่แยกดังกล่าวไปก่อน จึงเป็นเหตุให้นางสาวพิมพิชญาต้องหยุดรถกะทันหันจนเสียหลักล้มลงได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขับรถยนต์ด้วยความประมาทและน่าหวาดเสียวโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2547 เจ้าพนักงานได้ตัวจำเลย และวันที่ 15 มีนาคม 2548 เจ้าพนักงานยึดรถยนต์คันที่จำเลยขับเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 43 (8), 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 90, 390 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (8), 160 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานขับรถยนต์โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (8), 160 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ต่อครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี กับให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร มีกำหนด 15 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 รถยนต์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยแท้จริง จึงไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์ โดยรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 9 รักษาราชการแทนอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 9 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยเกิดจากการกระทำของตัวบุคคล รถยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยแท้จริง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ จะนำประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับมิได้ และพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติที่ให้ศาลริบรถยนต์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด เห็นว่า โจทก์บรรยายไว้ในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาว่า จำเลยขับรถยนต์ของกลางด้วยความประมาทและโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น อันเป็นความผิดตามมาตรา 43, 160 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว เจ้าพนักงานจับจำเลยและยึดรถยนต์ดังกล่าวซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง โจทก์ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 อันเป็นบทบัญญัติเรื่องริบทรัพย์ และมีคำขอให้ริบรถยนต์ของกลางด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ฟ้องว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด จำเลยจะฎีกาโต้แย้งว่ารถยนต์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอีกไม่ได้ และแม้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดที่ใช้ลงโทษแก่จำเลยจะไม่มีบทบัญญัติให้ริบทรัพย์ดังกล่าว แต่จะถือว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับดังที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาก็ไม่ได้อีกเช่นกัน เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 กำหนดให้ศาลริบทรัพย์สินได้นอกเหนือไปจากกรณีที่กฎหมายอื่นได้บัญญัติไว้ด้วย ดังนั้น เมื่อฟังได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาริบรถยนต์ของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17, 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share